นับแต่ไปจดแจ้งพรรคในเดือนเมษายนเป็นต้นมา พรรคอนาคตใหม่ได้ค่อยๆ คืบคลานเข้าไปยึดครอง “พื้นที่” ในทางการเมืองมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

น่าสนใจก็ตรงที่เริ่มจาก “สื่อใหม่”

อาจกล่าวได้ว่า เพียงเริ่มต้นในการรณรงค์ “ช่วยธนาธร ตั้งชื่อพรรค” ก็กลายเป็นประเด็นร้อนผ่านเครือข่ายของ “ทวิตเตอร์”

ยิ่งเปิดตัวให้สัมภาษณ์ผ่านบางสำนักข่าวคนติดตามก็เป็น “แสน”

จากการรุกคืบไปในพื้นที่ของ “สื่อใหม่” เริ่มส่งผลสะเทือนไปยังพื้นที่ของ “สื่อเก่า” และบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ ผลสะเทือนในทาง “ความคิด”

เป็นผลสะเทือนไปยังพรรคการเมือง “เก่า”

ปรากฏการณ์ 1 ที่แทบทุกพรรคการเมืองหยิบมาเป็นประเด็นในการสร้างความสนใจ คือ ปรากฏการณ์อธิบายถึงบทบาทของ “คนรุ่นใหม่” ภายในพรรค

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ เพราะว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล คือ คนหน้าใหม่ในแวดวงทางการเมือง

ปรากฏการณ์ 1 คือการเน้นในเรื่อง “นโยบาย”

เริ่มมีการพูดถึงสิทธิในทาง “เพศ” ให้ความเคารพต่อการเป็นอยู่ของแต่ละเพศ ไม่เพียงแต่ชาย หญิงเท่านั้น หากแม้กระทั่ง “ข้ามเพศ”

นั่นเพราะแรงสะเทือนจาก “ครูเคท”

อีกปรากฏการณ์ 1 ซึ่งมิอาจปฏิเสธได้ก็คือ การขยายบทบาทของความสัมพันธ์ระหว่าง “การตลาด” กับ “การเมือง” ให้ดำเนินไปเหมือนกับเป็นเรื่องของ “อีเวนต์”

เดิมทีบทบาทนี้เป็นของ พรรคไทยรักไทย กระทั่ง พรรคเพื่อไทย

แต่การปรากฏขึ้นของ “พรรคอนาคตใหม่” ทำให้แต่ละการเคลื่อนไหวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้รับการจับตา

โดยเฉพาะการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 27 พฤษภาคม

จากการส่งรายละเอียดและตอบรับ “บัตรเชิญ” จำนวน 4,000 ใบ ทำให้ภาพการประชุม ณ ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เหมือนกับเป็นงานมหกรรม

ทั้งๆ ที่ยิมเนเซียมจุได้เพียง 2,000-2,500 คน

จากเดือนเมษายนมายังเดือนพฤษภาคมอาจกล่าวได้ว่าเป็นเดือนที่ “พรรคอนาคตใหม่” ได้รับการจับตาติดตามจากแสงแห่งสปอตไลต์รอบด้าน

เหมือนกับการเกิดของพรรคพลังธรรม เหมือนกับการเกิดของพรรคไทยรักไทย

เพียงแต่เมื่อปี 2531 กระแสของโซเชี่ยลยังไม่คึกคัก เพียงแต่เมื่อปี 2541 กระแสของออนไลน์ยังเพิ่งก้าวเดินเตาะแตะ ขณะที่ในปี 2561 มีลักษณะพุ่งทะยาน

พรรคอนาคตใหม่จึงมาพร้อมกับ “สื่อใหม่”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน