แม้พรรคประชาธิปัตย์จะสำแดงอาการละล้าละลัง เหยียบเรือสองแคม ในประเด็นอันเกี่ยวกับการรื้อปรับแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งผลักดันมาจากพรรคอนาคตใหม่

แต่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เอาด้วย

แม้กระทั่ง พรรคภูมิใจไทยซึ่งถูกมองว่าแนบแน่น ใกล้ชิดอยู่กับคสช. แต่ก็มีหลักการอันเด่นชัดว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้

หากประชาชนแสดง “ฉันทานุมัติ” เด่นชัด

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีบทสรุปอย่างไร แต่เชื่อได้เลยว่าสถานการณ์การหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นประเด็น

เป็นประเด็นร้อน เป็นประเด็นใหญ่

จากเรื่องของรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะโยงสายยาวไปยังรากฐานและความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไล่กันครบถ้วนกระบวนความ

เพราะหากไม่ครบ ชาวบ้านก็อาจจะไม่เข้าใจ

นั่นก็คือ คำถามในทางการเมืองที่ว่าทำไมต้องมีการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทำไมต้องมีการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

คำตอบมีคำตอบเดียว เพราะ “รัฐประหาร”

ทั้งๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือ ผลิตผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่ยังมีรัฐประหารอีกในเดือนพฤษภาคม 2557

ตรงนี้แหละคือประเด็น ตรงนี้แหละสำคัญ

ไม่ว่าคสช.จะมีวาระของตนเองอย่างไร ไม่ว่าคสช.จะจัดตั้งเครือข่ายวางสายเพื่อการสืบทอดอำนาจของตนเองผ่านพรรคการเมืองใด

แต่ “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นเนื้อหาใจกลาง

คำถามที่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่จะกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกพรรคการเมืองจักต้องอธิบายและทำความเข้าใจ

ทำไมต้องรักษาเอาไว้ ทำไมต้องแก้ไข

มองจากผู้จัดเจนทางการเมืองอาจเห็นว่าไม่น่าจะปลุกขึ้น แต่ขอให้ติดตามต่อไปก็แล้วกันว่าความพยายามของพรรคอนาคตใหม่เมื่อได้รับการสนองรับจากพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ท่าทีอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์คือความรู้สึกละล้าละลัง ท่าทีอันมาจากคสช.คือ การไม่ยินยอมพร้อมใจอย่างเด็ดเดี่ยว

แต่เมื่อเรื่องนี้เสนอเข้าสู่ “การเลือกตั้ง”

คะแนนและความนิยมต่อแต่ละพรรคการเมืองจึงสัมพันธ์อยู่กับเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องรัฐประหารอย่างมิอาจจะปฏิเสธได้

คำตอบอยู่ในการตัดสินใจของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน