พลันที่พรรคประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ปรากฏตัวขึ้น ก็ก่อให้เกิดการแยกจำแนกระหว่างกลุ่ม และพรรคการเมืองที่แวดล้อมคสช.โดยพื้นฐาน

สังคมเริ่มมองเห็นระยะห่างของแต่ละพรรคมากขึ้น

พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชาติไทย พรรคทางเลือกใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ เริ่มถอยไปยืนอยู่วงนอก

น้ำเสียงเริ่มแปลกแปร่ง

พรรคประชาชนปฏิรูปอาจยังคงยืนหยัดในการชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พรรคพลังธรรมใหม่เริ่มตั้งข้อสังเกตและเริ่มวิพากษ์รัฐบาล

ยิ่งใกล้เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะยิ่งชัด

เหมือนกับว่าการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะเป็นการแบ่งหน้าที่ในท่วงทำนองแบบ “แยกกันเดิน”

นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ “ดูด” อย่างโดดเด่น

บทบาทของ ซุ้มสุโขทัย บทบาทของ ซุ้มฉะเชิงเทรา รับรู้กันมาอย่างยานานตั้งแต่อยู่พรรคสามัคคีธรรม พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย แล้วว่าเก่งในด้านไหน

นี่ย่อมแตกต่างไปจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย

พรรครวมพลังประชาชาติไทยผนึกความจัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ เข้ากับกปปส.และเข้ากับความจัดเจนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

มีสีสันในแบบ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

ผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐเมื่อประสานเข้ากับพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็สร้างจุดต่างอย่างเด่นชัด

2 พรรคนี้เป็น “วงใน” ของ “คสช.” มากกว่า

เห็นได้จากพลัง “ดูด” ของพรรคพลังประชารัฐใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นกองบัญชาการ เห็นได้จากการขับเคลื่อนของพรรครวมพลังประชาชาติไทยรวดเร็ว ฉับไว

เพียงขยับก็สามารถเปิดประชุมใหญ่ได้

ในอีกด้านหนึ่งจึงเท่ากับค่อยๆ กันพรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชาติไทย พรรคทางเลือกใหม่ และรวมทั้งพรรคพลังธรรมใหม่ให้กลายเป็น “วงนอก”

เพียงไม่กี่วัน “คสช.” ก็มองออก อ่านแตก

การมองออก แทงทะลุจะสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมไม่เพียงแต่การจับตาดูการเติบใหญ่ขยายตัวในด้านของสมาชิก หากที่สำคัญก็คือเงินทุน

ที่คุยว่าจะส่งลง 350 เขตทำได้หรือไม่

ยากเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองเหล่านี้จะสามารถทำได้หากไม่ได้รับเงินทุนอันเหมือนกับ “ท่อน้ำเลี้ยง” มาจากศูนย์กลางแห่งอำนาจ

นี่จึงต่างจากพลังประชารัฐ และรวมพลังประชาชาติไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน