เป็นไปตามความคาดหมาย กรณีของ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข และคณะที่จังหวัดเลย เสมอเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย

เพราะ “เป้า” แท้จริงอยู่ที่ “เพื่อไทย”

การดูดอดีต ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์เสมอเป็นเพียง “เครื่องเคียง” และมีความจำเป็นเพราะว่าคนเหล่านั้นจำเป็นต้อง “เลือก”

เดิมก็ก้ำๆ กึ่งๆ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรค “ลุงกำนัน”

แต่เมื่อมีพรรคพลังประชารัฐปรากฏขึ้น คนที่เคยอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์และเคยร่วมเคลื่อนไหวกับ “ลุงกำนัน” ในการชัตดาวน์พร้อมกับ “มวลมหาประชาชน” ก็จำเป็น ต้องเลือก

เพราะพรรคพลังประชารัฐเย้ายวนมากยิ่งกว่า

กระนั้น หากติดตามและศึกษา “ยุทธศาสตร์” อย่างแท้จริงของ “พรรคคสช.” อันสำแดงผ่านพรรคพลังประชารัฐแล้ว ทิศทางจะอยู่ที่พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

เนื่องจากต้องการเอาชนะ “เพื่อไทย”

การเอาชนะพรรคเพื่อไทย องค์ประกอบ 1 คือ การนำเอานโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิมมาต่อยอดและกดข่มพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

องค์ประกอบ 1 ซึ่งสำคัญคือ ต้องพังทลายตัวพรรคให้ ปั่นป่วน

วิธีที่ดีที่สุดตามหลักการ “ป้อมค่ายตีแตกจากภายใน” คือ การใช้พลานุภาพที่มีอยู่เพื่อดูดและดึงเอาอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทยออกมา

เท่ากับเป็น “หอกสนองคืน” กลับไป

หากพรรคเพื่อไทยประกาศและแสดงความเชื่อมั่นว่าจะต้องได้รับเลือกมากกว่า 200 และอาจทะยานไปถึง 260 กว่าด้วยซ้ำไป

วิธีต่อสู้โดยพื้นฐานก็คือ ล้ม “คำประกาศ” นี้

หากดูจากกลยุทธ์ของคสช.นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แนวทางสำคัญหนึ่ง คือ ดึงคนของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยมาเป็นพวก

บางคนก็นั่งอยู่ใน “ครม.” บางคนก็นั่งอยู่ใน “สปท.”

เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดตั้ง “พรรคคสช.” ขึ้นมาในทางเป็นจริงก็ต้องอาศัยคนเหล่านี้แหละมาเป็นไม้เป็นมือ

คนอย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ คนอย่าง นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน

เด่นชัดแล้วว่ากลยุทธ์ของ “พรรคคสช.” เป็นอย่างไร สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ พรรคเพื่อไทยจะแก้เกมนี้อย่างไร จึงจะพลิกกลับสถานการณ์ได้

จะอาศัยฐาน “ข้อมูลเดิม” อยู่อีกหรือไม่

นั่นก็คือ ความสำเร็จจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และความสำเร็จจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

คำถามก็คือ ปรปักษ์ครั้งนี้มิใช่ “ประชาธิปัตย์” หากเป็น “คสช.”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน