หากฟังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนกับว่ากรณี “พลังดูด” เป็นการใส่สีตีไข่อันมาจาก “นักการเมือง”

คำว่า “นักการเมือง” อาจเกิดจินตภาพต่อ “พรรคเพื่อไทย”

อาจเป็นเพราะบรรดาอดีตส.ส.ที่ถูก “พลังดูด” ไม่ว่าจะเป็น นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ไม่ว่าจะเป็น นายจำลอง ครุฑขุนทด หรือที่สดๆ ร้อนๆ ในแสงสปอตไลต์ขณะนี้คือ นายสุพล ฟองงาม

ล้วนเคยเป็น “รัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทยมาก่อน

แต่เอาเข้าจริงๆ กระบวนการแห่ง “พลังดูด” อันอึกทึกครึกโครมมิได้มีต้นตอมาจากปฏิบัติการต่อพรรคเพื่อไทย หากแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังชล

รายละเอียดเป็นอย่างไร

จำได้หรือไม่ว่าพรรคการเมืองใดเป็นพรรคแรกๆ ที่ออกมาเตือนคนในรัฐบาลว่าอย่าใช้ “ทำเนียบรัฐบาล” เป็นกองบัญชาการในการดูดนักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่น

เข้าทำนอง “ตกปลา” ใน “บ่อเพื่อน”

คำตอบรับรู้กันว่าเป็นการเตือนอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุลงไปเลยก็ได้ว่า คือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค

จากนั้นไม่นานก็เกิดกรณี “พลังดูด” ต่อ นายสกลธี ภัททิยกุล

ตอนแรกก็ประเมินกันว่าเป็นการแสดงฤทธานุภาพของพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่เมื่อภาพค่อยๆ ชัดกลับไม่ใช่

หากแต่เป็น “พลังดูด” ไปยัง “พรรคพลังประชารัฐ”

เหตุที่พรรคประชาธิปัตย์รับรู้รายละเอียดแห่ง “พลังดูด” อย่างพิสดารก็มาจากการบอกเล่าของ นายสกลธี ภัททิยกุล เอง

เขาบอกด้วยว่า “รองนายกรัฐมนตรี” คนใดเรียกตัวไป

การไปของเขามิได้ไปคนเดียวหากแต่ไปพร้อมกับเพื่อนอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนอื่น และอดีตส.ส.จากอีกพรรคการเมืองหนึ่ง

เป็นการบอกต่อหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

จากกรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล ก็ตามมาด้วยกรณีของ นายสนธยา คุณปลื้ม และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม จากพรรคพลังชล

จึงรับรู้กันว่า “พลังดูด” มาจาก “ทำเนียบรัฐบาล”

เมื่อเป็นกิจของคสช. เป็นกิจของรัฐบาล กระทั่งสามารถใช้ “ทำเนียบรัฐบาล” เป็นกองบัญชาการใหญ่จะแปลกอะไรหาก “พลังดูด” จะสัมพันธ์กับ “ครม.สัญจร”

อย่างที่เกิดขึ้นที่ชลบุรี อย่างที่เกิดขึ้นที่สุโขทัย

และอย่างที่กำลังถูกเฝ้ามองและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อ “ครม.สัญจร” ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม ที่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ

“พลังดูด” มาจากฟากใดก็น่าจะร้อง “อ๋อ” กันถ้วนหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน