ความหมายในการไล่ “ดูด” เอา “คนเสื้อแดง” จากพื้นที่นครราชสีมา ไล่เรื่อยไปยังพื้นที่สุรินทร์ โดยเริ่มต้นจากเงื่อนไข “ขอนแก่นโมเดล”

สะท้อนลักษณะ “ทางทหาร” มากกว่า “การเมือง”

เพราะว่าการดึงเอา นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ มาวางเรียงเคียงข้างกับ นายจำลอง ครุฑขุนทด นั้นเริ่มมาจากการต่อรองในเรื่องของ “คดีความ”

หากยอมสยบก็หมายความว่าจะผ่อนเบาลง

นี่ย่อมเป็นกระบวนการรุกเข้าไปในแบบของบรรดา “เสธ.” คนดังทั้งหลายในแวดวงยุทธจักรการตีเมืองขึ้นในย่านบันเทิง ไม่ว่าในกทม.หรือในต่างจังหวัด

ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการ “เซาะ” ไปถึง “รากฐาน”

ถามว่าการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าก่อนสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ของ “นปช.” มีรากฐานมาอย่างไร

เรื่องแบบนี้ทำไม นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ จะตีประเด็นไม่แตก

เรื่องแบบนี้ฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่ยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เรื่อยมาจนถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตีไม่แตก มองไม่ทะลุ

มวลชน เหล่านั้นล้วนมาจากเครือข่ายของ “ส.ส.”

เพราะว่าพื้นที่ในความยึดครองของพรรคไทยรักไทย ของพรรคเพื่อไทย คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ภาคเหนือ

จึงไหลมาจาก “อีสาน” จึงไหลมาจาก “เหนือ”

ยุทธวิธีของคสช.อันส่งผ่านมาทาง “กลุ่มสามมิตร” จึงด้านหลัก คือ การทะลวงเข้าไปยังแต่ละจุดอันอ่อนเปราะซึ่งดำรงอยู่ภายในพรรคเพื่อไทย

นั่นก็คือ การดูดจากเลย นครราชสีมา อุบลราชธานี

ขณะเดียวกัน ด้านรองลงมาคือ การรุกคืบไปยังบรรดา “คนเสื้อแดง” ที่ไม่พอใจต่อบทบาทของแกนนำหลักอย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อยู่แล้ว

นั่นก็คือ การดึงเอาโดยเริ่มต้นจากกรณี “ขอนแก่นโมเดล” มาเป็นตัวตั้ง

หากสามารถ “ดูด” เอาทั้งอดีตส.ส.จากพรรคเพื่อไทย และบางส่วนจากกลุ่มคนเสื้อแดงในเครือข่ายของนปช.เท่ากับลากเอา “หัวคะแนน” เข้ามาด้วย

ยิ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “คสช.” ผ่าน “พลังประชารัฐ”

เมื่อประสบเข้ากับการรุกอย่างต่อเนื่องโดยมี “กลุ่มสามมิตร” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเช่นนี้ อนุศาสน์ทางการเมืองอันเป็น “คำเรียกร้องของเลขาธิการ”

จะยังคงมี “ความหมาย” และ “บทบาท” อยู่หรือไม่

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการขยายผลแสดงพลังต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เพียงแต่เป็นกระบวนการอย่างที่เรียกว่า “พลังดูด” เท่านั้น

เจอมรสุมระดับนี้ “ปฏิกิริยา” จากพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน