การตั้งข้อสังเกตถึง “แนวโน้ม” ที่อาจมีการยกเลิกระบบ “ไพรมารีโหวต” อันมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สะท้อนความแหลมคมอย่างยิ่งในทางการเมือง

เพราะว่าสัมพันธ์กับ “พลังดูด” สัมพันธ์กับ “การย้ายพรรค”

เหมือนกับเป็นข้อสังเกตจากพรรคการเมืองที่อดีต ส.ส.ของคนตกเป็นเป้าหมายของ “พลังดูด” แต่ก็เป็นการเจาะทะลวงไปยัง “คสช.” โดยตรง

เนื่องจาก “คสช.” นั่นเองคือต้นตอแห่ง “พลังดูด”

เหมือนกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะกระสา “กลิ่นอาย” บางกลิ่นอันโชยมาจาก “คสช.” และบรรดาผู้ทำหน้าที่เป็น “เนติบริกร”

แต่ก็พอจับ “เค้า” มองเห็น “อะไร” ได้

1 ต้องยอมรับว่า “คสช.” มีความจริงจังเป็นอย่างมากในเรื่อง “พลังดูด” ไม่เพียงแต่จะใช้เส้นสายอย่าง “กลุ่มสามมิตร” ออกเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง

หากแม้กระทั่ง “ทำเนียบรัฐบาล” ก็เคยถูกใช้มาแล้ว

อาจสัมผัสได้จากกรณีการแต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม จากพรรคพลังชลเป็นที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของนายกรัฐมนตรี

อาจรับรู้ “โดยตรง” จากกรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล

ขณะเดียวกัน 1 ต้องยอมรับด้วยว่าการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมาทุกฝ่ายล้วนตระหนักเป็นอย่างดีว่ามี “รากฐาน” และ “เป้าหมาย” เพื่ออะไร

การตั้งข้อสังเกตเรื่อง “ไพรมารีโหวต” จึงแหลมคม

คนที่มีบทบาทในการเสนอและผลักดันให้เกิดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 คนหนึ่ง คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คนหนึ่ง คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

เหตุผลก็คือ ภาวะไม่เท่าเทียมกันระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า

ต้องยอมรับว่า 2 คนนี้เคยร่วมเปล่งคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มาด้วยกัน และแจ่มชัดว่าได้เข้าไปมีบทบาทกับพรรคการเมืองใหม่ 2 พรรค

1 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 พรรคประชาชนปฏิรูป

เป้าหมายของ 2 คนนี้คือเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ทั้งๆ ที่ยังติดล็อกจากคำสั่งคสช.ฉบับก่อนหน้านี้

ผลก็คือเกิดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมา

พรรคการเมืองที่สะสมความจัดเจนมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 อย่างพรรคประชาธิปัตย์ย่อมมองออก นักการเมืองที่จริงจังกับการเมืองอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมมองออก

จึงได้ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อประเด็น “ไพรมารีโหวต”

ข้อสังเกตนี้จึงเจาะทะลวงไปยังแก่นแกนและอาการหมกมุ่นครุ่นคิดของ “คสช.” และเหล่า “เนติบริกร” อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ตีกลางแสกหน้า

กลายเป็นปม กลายเป็นประเด็นในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน