ทั้งๆ ที่ชาวบ้านต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันต่อ “แผนสมคบคิด” ในจดหมายเปิดผนึกของ นายนคร มาฉิม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ว่า

เขารู้กันตั้งนานแล้วละลุง

แต่ดูเหมือนโฆษกไม่ว่าจะระดับพลโทจากทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะระดับพลตรีจากคสช.ต่างออกมายืนยันว่าทหารไม่เกี่ยว

ประหนึ่งตั้งใจจะให้เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์

เราท่านจึงเห็น “อาการ” ต่างๆ กันจากภายในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะระดับรองโฆษกพรรค ไม่ว่าจะระดับหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ไม่ว่าจะระดับรองเลขาธิการพรรค ไม่ว่าจะระดับรองหัวหน้าพรรค

ราวกับว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีอะไรกับ “รัฐประหาร”

เห็น “อาการ” จากพรรคประชาธิปัตย์แล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงสถานการณ์ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

คนใหญ่คนโตของพรรคประชาธิปัตย์มารับอานิสงส์ถ้วนหน้า

หัวขบวนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป ระดับรองลดหลั่นกันลงมา บ้างก็เป็นรัฐมนตรี บ้างก็เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ออกแก้ต่างให้คณะรัฐประหารว่าเป็น “คณะปาฏิหาริย์” กันคึกคัก

ขณะที่คณะรัฐประหารปล่อยให้บริหารจากเดือนพฤศจิกายน 2490 ถึงเดือนเมษายน 2491 ก็ส่งคณะนายทหาร 5-6 คนไปเยือนบ้านหน้าสนามกีฬาของ นายควง อภัยวงศ์ บอกนิ่มๆ ว่าสมควรจะลาออกได้แล้ว

เท่านั้นแหละวงแตก

ย้อนจากหลังเดือนพฤศจิกายน 2490 มายังก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

พรรคประชาธิปัตย์ไม่มี “บทบาท” อะไรเลยหรือ

หากไม่มีอะไรเลยจะตอบคำถามของประชาชนอย่างไรที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมคณะ เดินทางไปโอบกอด นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่บ้านพระอาทิตย์

หากไม่มีอะไรเลยจะตอบคำถามเรื่องเป่า “นกหวีด” อย่างไร

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องอธิบายให้ยาวความว่า บทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นอย่างไร บทบาทของ นายถาวร เสนเนียม เป็นอย่างไร

หากเมื่อใดพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจนำกรณี “จดหมายเปิดผนึก” ขึ้นฟ้องร้องด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือด้วยพ.ร.บ.หมิ่นประมาท

เมื่อนั้นความเข้มข้นก็จะนับ 1 กันอีก

นับไปยังสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นับไปยังสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

พรรคประชาธิปัตย์ยืนตรงไหน ยืนอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน