ประเมินจากภาพและข่าวของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ปรากฏผ่านสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ต้องยอมรับว่าคึกคักและหนักแน่น

ไม่ว่า “ข่าวสด” ไม่ว่า “ไทยรัฐ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไหลไปรวมอยู่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กระทั่งกลายเป็นอีเวนต์ในทางการเมืองไปโดยปริยาย

เท่ากับสะท้อนบารมีในตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ อย่างเด่นชัด

อาจเป็นเพราะตัวตนและบทบาทของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งเป็นประธานนปช.อยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์ทางการเมืองอยู่แล้ว

แต่น่าจะมี “อะไร” มากกว่านั้น

อะไรในที่นี้ก็คือ สถานการณ์และบรรยากาศแห่ง “พลังดูด” ทางการเมืองที่ออกอาละวาดไม่เพียงแต่ต่อพรรคเพื่อไทย หากครอบคลุมไปถึงแกนนำและแวดวงนปช.ด้วย

นั่นก็คือ ไม่ได้มีคนอย่าง นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

นั่นก็คือ หมายรวมไปถึง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ซึ่งเคยเคลื่อนไหวร่วมกับนปช.ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 กระทั่งเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

การตัดสินใจของคนจากพรรคเพื่อไทย คนที่เคยเป็นนปช.บางคนนั่นแหละสำคัญ

เพราะหากไม่มีการแยกตัวออกไปของคนแบบ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข หรือคนแบบ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ก็คงไม่ทำให้การยืนหยัดของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ทรงความหมาย

คุณค่าของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ จึงคือลักษณะยืนหยัดอย่างมั่นคง

ยิ่งหากมองเส้นทางการเติบโตทางการเมืองของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็จะประจักษ์และเข้าใจในความหนักแน่นของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ มากยิ่งขึ้น

เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็น “นักศึกษา”

ประสบการณ์แรกที่สุดนอกมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็คือการเข้าร่วมในสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ได้เข้าใกล้ชิดกับ “ความตาย” มาแล้ว

กระนั้น ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ความแน่วแน่ มั่นคงในความเชื่ออันกลายเป็นหลักการที่ต่อต้านรัฐประหาร ยืนหยัดอยู่ข้างประชาธิปไตย

ยิ่งยากลำบาก ยิ่งมีความมั่นคง ไม่คลอนแคลน

จากเดือนพฤษภาคม 2535 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2553 เท่ากับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้รับการหล่อหลอมผ่านกระบวนการต่อสู้ที่เป็นจริง

ไม่กลัวติดคุกคิดตะราง ไม่กลัวความตาย

การอุทิศชีวิตให้กับความคิด ความเชื่อ และลงมือต่อสู้อย่างเป็นจริงนั่นแหละที่ทำให้ความเป็น นายจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่ในสายตาและความรักของประชาชน

สถานะ “นำ” ของเขาจึงอยู่ที่ “การต่อสู้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน