คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ไม่ว่าแนวทางอันเป็นบทสรุปในที่ประชุม “ร่วม” ระหว่างคสช.กับครม.จะมาจาก “ข้อเสนอ” ของใคร หรือประมวลออกมาได้อย่างไร

แต่คำสั่ง “ปิดปาก” ในกรณี “วัดพระธรรมกาย” นับว่าสำคัญ

ที่สำคัญ 1 คือ ปิดปากทางด้าน “ดีเอสไอ” ขณะเดียวกัน ที่สำคัญ 1 คือ ปิดทางด้าน “ตำรวจ” สะท้อนบทบาทและความหมายอันเด่นชัด

ความเงียบจึงบังเกิดขึ้นกับ “ดีเอสไอ”

ความเงียบจึงบังเกิดขึ้นกับ “ตำรวจ” ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล

ทำให้กรณี “วัดพระธรรมกาย” ไปกองอยู่ที่ “จังหวัด”

เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของ “ฝ่ายปกครอง” เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ เจ้าหน้าที่ชลประทาน เจ้าหน้าที่ที่ดิน

ยังพุ่งเป้าไปยัง “วัดพระธรรมกาย” แต่ดำเนินไปอย่างมีลักษณะ “หด”

ความเข้มงวดต่อ “วัดพระธรรมกาย” ยังดำรงอยู่ เห็นได้จากการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประสานและร่วมมือกับตำรวจทางหลวงตั้งด่าน ตั้งจุดตรวจ

รวมแล้วกว่าจะเล็ดลอดไปถึงวัดพระธรรมกายก็มีมากถึง 7 จุด

แน่นอน เป้าหมายของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ 1 ย่อมเป็นพระภิกษุ และ 1 ย่อมเป็นคณะศิษยานุศิษย์ซึ่งมองเห็นได้ไม่ยากในความเป็นจริง

พระย่อมอยู่ในสูท “จีวรเหลือง” ศิษยานุศิษย์ย่อมอยู่ในชุด “ขาว”

อย่าได้แปลกใจภายใน 21 คดีที่คณะพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประมวลและรวบรวมมา ปรากฏว่ามีถึง 15 คดีเป็นคดีอันเกี่ยวกับ ใช้รถในการขนส่งนอกเส้นทางหรือนอกท้องที่ที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

เป็นไปอย่างที่ปรากฏผ่าน “เสียงลึกลับ” ใน “คลิปลึกลับ” ทุกประการ

ถามว่าอะไรคือเหตุผลในการทำให้เจ้าหน้าที่ระดับหัวแถวไม่ว่าจะของ “ดีเอสไอ” ไม่ว่าจะเป็นของ “ตำรวจ” อยู่ในสถานะอย่างที่เรียกว่า “ลดบทบาท” ลง

ที่สำคัญก็คือ งดการให้สัมภาษณ์ในเรื่อง “ธรรมกาย”

คำตอบที่ตรงเป้าอย่างที่สุดก็คือ พยายามมิให้กรณีอันเกี่ยวกับ “วัดพระธรรมกาย” ลามรุกเข้ามากลายเป็นความรับผิดชอบของคสช.และของรัฐบาล

โดยให้เป็นเรื่องของ “ฝ่ายปกครอง” จำกัดวงภายใน “จังหวัด”

การตั้งจุดตรวจจำนวนมากถึง 7 ด่านรอบๆ บริเวณวัดพระธรรมกาย คือ การจำกัดจำนวนคณะศิษยานุศิษย์มิให้เดินทางเข้าไป หรือหากเดินทางเข้าไปก็ประสบความยากลำบาก

เล่นกันในเรื่อง “คดีความ” เล่นกันในเรื่องทางโรงทางศาลเป็นหลัก

มาตรการอันมาจากคสช.อันมาจากรัฐบาลนี้ดำเนินอยู่ภายใต้ธงในการนำ “หมายค้น” ไปบรรลุ “หมายจับ”

แต่อย่าลืมที่อายุความซึ่งดำรงอยู่ภายใน “หมายจับ” อย่างเด็ดขาด นั่นก็คือ เป็นอายุความที่มากถึง 15 ปี อันเท่ากับว่าจะจับกุมวันนี้หรืออีก 10 ปีข้างหน้าความหมายก็เหมือนกัน

นี่คือลักษณะ “ยืดหยุ่น” แต่มิได้หมายความว่าจะไม่ “บุก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน