ปฏิกิริยาอันเกิดขึ้นภายในสนช.แสดงความไม่เห็นด้วยกับความพยายามของ 36 สนช.ในการเสนอร่างแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เป็น “ปฏิกิริยา” ที่ไม่ควรมองข้าม

เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นปฏิกิริยาอันบ่งบอกว่าแม้กระทั่งวิประดับ พล.อ.นพดล อินทปัญญา ก็ไม่เคยรับรู้ความพยายามนี้มาก่อน

คล้ายกับจะตัดหางปล่อยวัด 36 สนช.

เพราะว่า พล.อ.นพดล อินทปัญญา ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทอยู่ในคสช.หากแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะที่เป็นเพื่อนนักเรียนจปร.รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เท่ากับยืนยันว่าไม่มี “ใบสั่ง” มาจาก “พี่ใหญ่”

ท่าทีล่าสุดจากภายในสนช.เช่นนี้เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า อนาคตของการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่น่าจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

มีความเป็นไปได้ว่าจะ “เดี้ยง” ใน 2 ระดับ

ระดับแรกก็อาจจะถูกตีให้ตกไปในที่ประชุมคณะกรรมาธิการประสานงานกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือที่รู้กันในชื่อ “วิปสนช.”

หรือหากผ่านระดับนี้ก็อาจถูกตีตกในที่ประชุมใหญ่

ข้อสังเกตนี้มีความเป็นไปได้แต่ก็อยู่ในเงื่อนไขของการประนีประนอมนั่นก็คือ กกต.ชุดเก่ากับกกต.ชุดใหม่ตกลงกันได้ว่าจะมีการสะสาง

ตรงนี้ต่างหาก คือ ความละเอียดอ่อน

ไม่ว่าในที่สุดกรณีความพยายามในการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 จะลงเอยอย่างไร เดินหน้าหรือถอยหลัง

ที่ตกเป็นจำเลยในทางสังคมคือ สนช.

เพราะพฤติการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความหละหลวมในการยกร่างและพิจารณากฎหมายของสนช.ว่าเป็นอย่างไร

ไม่ว่าว่าด้วยกกต. ไม่ว่าว่าด้วยพรรคการเมือง

ยังไม่ทันได้นำไปปฏิบัติอย่างเป็นจริงก็สนช.นั่นแหละที่นำหน้าในการเสนอแก้ไขทั้งๆ ที่พวกตนยกมือให้ผ่านมาด้วยคะแนนท่วมท้น

จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่าทำตาม “ใบสั่ง”

ด่านแรก สนช.อาจถูกมองด้วยความไม่ไว้วางใจ แต่ในที่สุดสายตาที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงแคลงคลางก็เทไปยัง “คสช.”

เพราะคสช.คือผู้ทำคลอดให้กับสนช.

เพราะบทสรุปของประชาชนนับแต่สถานการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คือ อยากอยู่ยาวโดยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

สถานการณ์ครั้งนี้ก็ถูกมองแบบนี้เช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน