ทั้งๆ ที่ไม่ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่ว่า นายภิรมย์ พลวิเศษ ล้วนเคยแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง “กลุ่มสามมิตร” กับ “พรรคพลังประชารัฐ”

แล้วเหตุใดยังไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ

ตามสำนวนของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นั่นก็คือ ต้องรอเวลา เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐก็เพิ่งเริ่มจดแจ้งชื่อพรรค และจะครบกำหนด 180 วันก็ในเดือนตุลาคม

ยังเหลือเวลาอีกถึง 2 เดือนจึงจะขยับขับเคลื่อนได้

ในความเป็นจริง การขับเคลื่อนของ “กลุ่มสามมิตร” ก็เท่ากับเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “พรรคพลังประชารัฐ” นั้นเอง

แต่ที่ยังไม่ร่วมเป็นเรื่องของ “ยุทธวิธี”

หากสดับตรับฟังจากไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ออกมาหลิ่วตาให้กับการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร”

ไม่ผิด “กฎหมาย” เพราะยังเป็นเพียง “กลุ่ม”

ก็เด่นชัดอย่างยิ่งว่า “กลุ่มสามมิตร” ฉวยช่องทางที่ยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐนั้นเองสร้างความคล่องตัว

เท่ากับ “แยกกันเดิน” แต่พร้อม “ร่วมกันดี”

เพราะเมื่อเคลื่อนไหวในนาม “กลุ่มสามมิตร” พร้อมกับได้รับไฟเขียวก็ถูกมองข้ามไม่ถือว่าขัดต่อประกาศคสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558

เดินล่วงหน้าพรรคการเมืองอื่นไปหลายก้าว

ถามว่าบทบาทและการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” เช่นนี้น่าเกลียดหรือไม่ หากมองจากด้านของคสช.ก็ไม่น่าเกลียด เป็นความเหมาะสม

เพราะว่า “ครม.สัญจร” ก็อีหรอบเดียวกัน

รัฐบาลอาศัยความชอบธรรมในสถานะแห่งกุมอำนาจบริหารเดินสายไปจัด “ครม.สัญจร” ตามจังหวัดอันเป็นเป้าหมาย

อนุมัติ “โครงการ” พร้อมกับเงิน “งบประมาณ”

จะว่าเป็นการหาเสียงล่วงหน้าก็ว่าได้ แต่คำถามก็คือรัฐบาลอื่นก่อนหน้านี้เคยทำหรือไม่ ปรากฏว่าทำกันทั่วหน้า ไม่ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย

จึงต้องอึ้งกิมกี่กันไปถ้วนหน้า

การเร่งเครื่องไม่ว่าจาก 1 รัฐบาล เมื่อประสานกับการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” เท่ากับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า “การเลือกตั้ง” คงอยู่ไม่ไกล

แต่ที่คิดว่า “ไม่ไกล” นั้นก็ยังมีความ “ไม่แน่นอน”

เห็นได้จากบทบาทของ 36 สนช. เห็นได้จากการโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ อันมีผลต่อการเลือกตั้งสะท้อนว่ายังจัดแถวไม่เข้ารูปเข้ารอย

หากเข้ารูปและมั่นใจว่าชนะแน่เมื่อใด คงแจ่มชัดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน