ทำไม “ครม.สัญจร” ที่จังหวัดระนอง ชุมพร ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม จึงขาดความคึกคัก หนักแน่นลงไปอย่างเห็นได้ชัด

แม้จะอนุมัติ “โครงการ” ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่จังหวัดอุบลราชธานี

อาจจะเป็นเพราะไม่มีภาพการตั้งแถวต้อนรับของบรรดา “นักการเมือง” ไม่ว่าระดับชาติ ไม่ว่าระดับท้องถิ่น

เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของ “ประชาธิปัตย์”

ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็มัวแต่ติดงานใหญ่อันเกี่ยวกับโรงพักและแฟลตตำรวจที่คาราคาซังมาตั้งแต่ปี 2552

ยิ่งกว่านั้น ยังมีชื่อ “ยิ่งลักษณ์” เข้ามาแจมอีกด้วย

สถานการณ์ของ “ครม.สัญจร” ไปยังพื้นที่ภาคใต้มีความแตกต่างไปจากการไปยังพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแน่นอน

ไม่เพียงเพราะมิได้เป็นพื้นที่ “เป้าหมาย”

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ พื้นที่นับแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงสงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเจาะทะลวง

นี่ย่อมแตกต่างไปจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต้องยอมรับว่าพลานุภาพของ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ว่าจะจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังแผ่ไปไม่ครอบคลุม

ยิ่งกว่านั้น “สามมิตรสัญจร” นั่นแหละทำให้งาน “กร่อย”

ภายหลังจากสามารถเปิดปฏิบัติการพลังดูดได้อย่างคึกคักจากจังหวัดเลย จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอุบลราชธานี “กลุ่มสามมิตร” มากด้วยความคึกคัก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เล่นบทเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เปิดปฏิบัติการ “สามมิตรสัญจร” ออกไปพบปะประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เป้าหมาย 1 พบผู้สมัคร เป้าหมาย 1 พบประชาชน

เหตุผลของ “กลุ่มสามมิตร” ก็เช่นเดียวกับเหตุผลของคสช.และของรัฐบาล นั่นก็คือ ไปพบเพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนเพื่อนำมาเสนอให้คสช.และรัฐบาลแก้ไข

แทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นผลร้าย

กล่าวเฉพาะหน้า “กลุ่มสามมิตร” อาจสามารถดูดอดีตส.ส.แถว 2 แถว 3 ที่เคยอยู่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนมาได้ เท่ากับเสริม “พลังประชารัฐ”

สร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงในเรื่องสืบทอดอำนาจ

กระนั้น เสียงท้วงติงจากพรรคและกลุ่มการเมืองอื่นๆ ก็ดังอึกทึกกึกก้องเพราะเท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับ “กลุ่มสามมิตร” แต่ติดล็อกให้กับพรรคและกลุ่มการเมืองอื่น

กลายเป็น “แผนสมคบคิด” อันมาจาก “ทำเนียบรัฐบาล”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน