การเปิดตัวพรรคประชาชาติในวันที่ 1 กันยายน ก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งในทางการเมืองแม้จะจำกัดขอบเขตอยู่เพียง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม

เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี “ประเด็น”

ประเด็นมิได้อยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ซึ่งมีไทยมุสลิมเป็นด้านหลักเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ที่ความขัดแย้งซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนาน

ที่แหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ

มีความพยายามจากหลายรัฐบาลที่เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาก็ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อและเรื้อรัง

การเกิดขึ้นของพรรคประชาชาติก็เพื่อการนี้

ต้องยอมรับว่าองค์ประกอบของพรรคประชาชาติมาจากการรวมตัวกันของนักการเมืองในกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “วาดะห์” ซึ่งที่ผ่านมามิได้มีพรรคการเมืองของตนอย่างเด่นชัด

เห็นได้จากการเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองเดิม

ไม่ว่าจะเป็นพรรคกิจสังคม ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคความหวังใหม่ กระทั่งมาลงหลักปักฐานอยู่กับพรรคไทยรักไทย

จากพรรคไทยรักไทยต่อมาพรรคพลังประชาชน และที่สุดคือพรรคเพื่อไทย

แนวทางในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาชาติจึงสัมพันธ์กับแนวทางในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคเพื่อไทย

ตรงนี้สำคัญและทรงความหมาย

แนวทางที่ปรากฏในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านพรรคเพื่อไทยแท้จริงก็เพื่อที่จะยอมรับจากที่เคยผิดพลาดมาในยุคพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนมกราคม 2547

นั่นก็คือ แทนที่จะเผชิญหน้าอย่างชนิดตาต่อตา

ตรงกันข้าม เมื่อถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอแนวทางในการเจรจาโดยอาศัยทางการมาเลเซียเป็นตัวกลางเชื่อมไปยังขบวนการในพื้นที่

แนวทางนี้ถูกยกเลิกทันทีภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557

การที่บางส่วนของพรรคเพื่อไทยแยกตัวออกไปจัดตั้งพรรคประชาชาติจึงไม่เพียงแต่เป็นยุทธวิธีเพื่อรับมือกับกฎกติกาใหม่ของการเลือกตั้ง หากที่สำคัญก็คือการชูนโยบายที่สวนทางกับคสช.

ตรงนี้คือการปะทะกันในเชิง “นโยบาย” อันแหลมคมยิ่ง

การเกิดขึ้นของพรรคประชาชาติจึงมิได้เป็นการดำรงอยู่อย่างเป็นพันธมิตรในแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทย หากแต่ยังเดินหน้าก่อให้เกิดการเปรียบเทียบเชิงนโยบาย

ไม่เพียงแต่ต่อกระบวนการของ “คสช.”

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การเปรียบเทียบกับแนวทางของพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์

ผลจะเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ที่ “ประชาชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน