หากคำประกาศของพรรคพลังธรรมในการเลือกตั้งเมื่อปี 2531 ที่ว่าจะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรีหรือผู้บริหารของพรรค

ส่งแรงสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

คำประกาศ “อนาคตเรากำหนดเอง” อันมาจากพรรคอนาคตใหม่โดยชูประเด็น “กระจายอำนาจ” กำลังส่งแรงสะเทือนอย่างกว้างไกลและซึมลึก

“กระจายอำนาจ” อาจมิได้เป็นนโยบาย “ใหม่”

พรรคประชาธิปัตย์เขียนในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอาไว้นานมาแล้ว กปปส.เคยประกาศในห้วงแห่งการชัตดาวน์อึกทึกกึกก้อง แต่มาถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรปรากฏในทางเป็นจริง

“พูด” ให้หรูอย่างไรก็ได้ แต่ “รูปธรรม” จะออกมาอย่างไร

พรรคอนาคตใหม่อาจมีอายุการประกาศตัวเพียงไม่กี่เดือนในตอนนี้ก็ยังไม่ได้เป็นพรรคอันสมบูรณ์ครบถ้วนด้วยซ้ำไป

แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงไหน

อย่างแรกสุดก็คือ การประกาศว่าจะกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมโดยเงินค่าสมาชิก 100 บาท จะแบ่งออกเป็น 2 กระบวนการ

1 ร้อยละ 70 เป็นของจังหวัดนั้น และ 1 ร้อยละ 30 อยู่ส่วนกลาง

หากสามารถปฏิบัติได้ตามคำประกาศ นั่นหมายความว่า แต่ละจังหวัดจะมีเงินเพื่อการใช้จ่ายจาก 100 คือ 70 บาท

นั่นก็คือ การกระจายอำนาจในทางเป็นจริง

ยิ่งกว่านั้น พรรคอนาคตใหม่ยังยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่ว่าจะมีการคลายล็อก ไม่ว่าจะมีการปลดล็อกโดยเอื้อให้กับบางพรรคการเมือง

กระทั่ง เปลี่ยน “หลักการ” ในการทำ “ไพรมารีโหวต”

แทนที่จะปฏิบัติตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กลับย้อนไปใช้วิธีการอย่างที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอมา

แต่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันจะเดินหน้า “ไพรมารีโหวต”

หากทำได้ตามเป้าหมาย นั่นหมายความว่า อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องผู้สมัครขึ้นอยู่กับสมาชิกแต่ละพื้นที่มิได้เป็นเรื่องที่กำหนดมาจากส่วนกลาง

ตรงนี้แหละคือรูปธรรม “กระจายอำนาจ” อย่างแท้จริง

คำประกาศอย่างเสมอต้นเสมอปลายในเรื่องกระจายอำนาจจึงเป็นคำประกาศหนึ่งซึ่งอยู่ในความรับรู้ของประชาชนมานับแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

คำถามอยู่ที่ว่าจะทำได้จริงหรือไม่

คำถามที่ลึกซึ้งและหนักแน่นยิ่งกว่านั้นก็คือ พรรคอนาคตใหม่จะสามารถลงมือทำได้ตามคำประกาศอย่างเป็นจริงหรือไม่

เมื่อท่านพูด คนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำ คนจะเชื่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน