ไม่มีอะไรจะสะท้อนลักษณะ “ย้อนแย้ง” หรือ “พลิกไขว้” ทางการเมืองได้เท่ากับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 ห้ามใช้โซเชี่ยล มีเดีย หาเสียง

ย้อนแย้งกับคำว่า “เศรษฐกิจ ดิจิตอล”

คงจำกันได้ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศคำๆ นี้ออกมาถี่ยิบมากเพียงใด

ย้อนแย้งกับคำว่า”ไทยแลนด์ 4.0″

คงจำกันได้ว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ประกาศคำๆ นี้ออกมาถี่ยิบมากเพียงใดในห้วงที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นี่ย่อมสวนทางกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 โดยสิ้นเชิง

ปรากฏการณ์นี้จึงไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การเดินหน้าประเทศภายหลังรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ดำเนินไปในลักษณาการแบบใด

หากมองผ่านม่านควัน “การตลาด” ลงไป

คำว่า “ปฏิรูป” คำว่า “เศรษฐกิจ ดิจิตอล” หรือแม้กระทั่งคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นเหมือนกับใบเฟิร์นประดับแจกัน หรือเครื่องแต่งหน้าเค้ก

ขณะที่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

เหมือนกับเป็นการดำรงอยู่ของ “โลกสมัยใหม่” ซ้อนทับอยู่กับการดำรงอยู่ของ “โลกสมัยเก่า” อบอวลด้วยค่านิยม 12 ประการ

เป็นยุค 0.4 มิได้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 ในทางเป็นจริง

อย่าได้แปลกใจหากการห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชี่ยล มีเดีย ในการหาเสียงหรือในการประชาสัมพันธ์พรรคจะดำเนินไปเหมือนกับที่กรรมการป.ป.ช.บางคนออกมาสรุป

จีที 200 เป็นเหมือนกับ “พระเครื่อง”

แม้ว่าโฉมหน้าของจีที 200 จะเป็นเครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์ แต่ความเป็นจริงก็ไม่ต่างไปจากพระเครื่องห้อยคอเท่าใด

คือให้ความมั่นใจในเชิงไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

เมื่อแนวคิดเช่นนี้ปรากฏผ่านคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 จึงไม่ลังเลที่จะปฏิเสธบทบาทของโซเชี่ยล มีเดีย

นั่นก็คือ ปฏิเสธ “ดิจิตอล” และซุกอยู่ใต้ “อนาล็อก”

แม้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 จะอิงแอบอยู่กับความปรารถนาจะสกัดกั้นบทบาทของโซเชี่ยล มีเดีย อย่างไร แต่ความยุ่งยากก็จะตามมาอย่างแน่นอน

เป็นความยุ่งยากในการปฏิบัติที่เป็นจริง

เป็นความยุ่งยากที่ไม่แน่ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเห็นด้วยกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 ด้วยอาการเซื่องหรือไม่

อีกไม่นาน “คำตอบ” จะแสดงตัวออกมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน