ความเชื่อที่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะเป็นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคต่ำกว่า 100

กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

ยิ่งเมื่อมีการต่อสู้ผ่านตำแหน่งหัวหน้าพรรคระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ยิ่งมีความแจ่มชัด

เพราะนี่คือเงาสะท้อนของความแตกแยก “ภายใน”

เป็นมูลเชื้อที่เหลือค้างอยู่จากสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และตกค้างมาถึงสถานการณ์การทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

และที่สุดปะทุเป็นรูปธรรมผ่านพรรครวมพลังประชาชาติไทย

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะก่อตั้งอย่างเป็นรูปการณ์ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2489 แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ชื่อว่าเป็นพรรคขนาดใหญ่ตีคู่มากับพรรคเพื่อไทย

แต่มิได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคต่ำกว่า 100

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นพรรคอันดับ 1 ก็กลายเป็นพรรคอันดับ 1

ปี 2544 มีส.ส. 128 ขณะที่พรรคไทยรักไทยมี 248

ปี 2548 มีส.ส. 96 ขณะที่พรรคไทยรักไทยมี 377

ปี 2550 มีส.ส. 165 ขณะที่พรรคพลังประชาชนมี 233 และปี 2554 มีส.ส. 159 ขณะที่พรรคเพื่อไทยมี 265

เห็นหรือยังว่าสถานะพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร

ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2562 ในภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์จะถูกแย่งชิงไปโดย 1 จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ 1 จากพรรคประชาชาติ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่มีอยู่เลย

ขณะเดียวกัน ในส่วนอื่นของภาคใต้ก็มิได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถยึดครองได้อย่างเบ็ดเสร็จเหมือนในอดีต

อย่างน้อยพรรคอนาคตใหม่ก็จะกลายเป็นอีก “ตัวเลือก”

พรรคอนาคตใหม่จะกลายเป็นคู่สัประยุทธ์อันเข้มข้นของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่ในภาคใต้ หากแต่ยังเป็นในพื้นที่กทม.อีกด้วย

ยิ่งหากมองในขอบเขตทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือแทบไม่ต้องกล่าวถึงเพราะเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว

ภาคกลางเมื่อไม่มี นายอลงกรณ์ พลบุตร ก็อาจจะต้องเหน็ดเหนื่อย

การชูธง 2 ผืน คือ 1 ต่อต้านพรรคเพื่อไทยภายใต้ข้ออ้างต่อต้านระบอบทักษิณ และ 1 ต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอกจะยิ่งทำให้แฟนานุแฟนพรรคประชาธิปัตย์ละล้าละลัง

ปัญหาทั้งหมดนี้คือความเหน็ดเหนื่อยของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน