ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ เปิดตัวขึ้นมาด้วยความคึกคัก เข้มข้นอย่างยิ่งในทางการเมือง

เป้าหมาย คือ ต้องการโค่น “แชมป์”

แน่นอน แชมป์ในสนามการเลือกตั้งนับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมาเป็นพรรคการเมืองใดรู้กันอยู่

เป็น “เพื่อไทย” มิใช่ “ประชาธิปัตย์”

น่าสนใจก็ตรง แม้จะมีเป้าหมายเพื่อโค่นแชมป์ แต่มิได้เป็นการโค่นในแบบ “น็อกเอาต์” แต่ดำเนินไปในท่วงทำนองว่าให้ชนะผ่านกระบวนการ “ฟาวล์” มากกว่า

ตรงนี้แหละที่สะท้อน “ด้านรอง” ออกมา

สภาพความเป็นจริงอันเป็นผลสะเทือนจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ไม่เพียงแต่จะทำให้พรรคการเมืองไทยมีลักษณะต่อสู้กัน 2 พรรคอย่างเด่นชัด

คือ พรรคไทยรักไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์

หากยากเป็นอย่างยิ่งที่จะมีพรรคอันดับ 3 ทะยานขึ้นมาแทนที่พรรคอันดับ 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างง่ายดาย

มีความพยายามหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แต่ก็ไม่สำเร็จ

ยุทธศาสตร์ตามแผนบันได 4 ขั้นของคมช.ต้องการโค่นพรรคพลังประชาชนผ่านกระสวนเดียวกันกับยุทธศาสตร์ที่มีต่อพรรคเพื่อไทยนี่แหละ

เพียงแต่ในปี 2550 มีพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย

หากดูจากการก่อรูปของพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อไปผนวกตัวรวมพลังกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากยุคคสช.

เพียงแต่ยุคนี้เป็น พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย

เป้าหมายอย่างแท้จริงก็ยังฝากความหวังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ว่าจะมาอยู่ในเส้นทางเดียวกัน

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะบ่อนเซาะ “เพื่อไทย” ได้แค่ไหน

ยิ่งกว่านั้น ในระยะหลังยังเพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อวางเป้าหมายว่าจะบ่อนเซาะ “ประชาธิปัตย์” ได้แค่ไหนอีกด้วย

แสดงว่า “ประชาธิปัตย์” ก็เริ่มมีทิศทางของตนเอง

ปรากฏการณ์อันถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ในทางการเมืองก็คือ พรรคเพื่อไทยมิได้โดดเดี่ยวเหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550

อย่างน้อยก็ปรากฏ “พันธมิตร” ใน “แนวร่วม”

นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่พร้อมกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประสานกับการเกิดขึ้นของพรรคประชาชาติของกลุ่มวาดะห์

ปัจจัยนี้จะยิ่งทำให้แผนสืบทอดอำนาจเพิ่มความยุ่งยากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน