ยิ่งยื้อ ถ่วง หน่วง เวลาในการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีให้ทอดยาวไปมากเพียงใด ที่เคยคิดว่าจะเป็นคุณก็อาจจะกลายเป็นโทษ

พลันที่คำว่า “ธรรมาภิบาล” ดังกระหึ่มจากรอบทิศ

นี่คือสภาพการณ์ใหม่ในทางการเมือง ไม่เพียงแต่ต่อ 4 รัฐมนตรีที่เข้าไปมีตำแหน่งบริหารภายในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น

หากแต่จะสั่นสะเทือนไปถึงคสช.ไปถึงรัฐบาล

เพราะภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.ก็มาพร้อมกับคำมั่นที่ว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

เป็นการมาพร้อมกับคำว่า “ธรรมาภิบาล”

คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงการเมือง การเลือกตั้งในวันข้างหน้าของประชาชนเน้นอย่างหนักแน่นในเรื่องของ “ธรรมาภิบาล”

พร้อมกับตั้งข้อสงสัยต่อ “นักการเมือง”

นั่นก็คือ หากได้นักการเมืองหน้าเก่า หากมีนักการเมืองที่ขาดไร้ซึ่ง “ธรรมาภิบาล” ประชาชนจะยังเลือกให้เข้ามาบริหารอีกละหรือ

แล้วกรณีของ 4 รัฐมนตรีก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์

การดำรงทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ขณะที่เข้าไปเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค จึงทรงความหมาย

ทรงความหมายต่อ “ธรรมาภิบาล” อย่างแหลมคม

ความแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ การยกย่องว่า 4 รัฐมนตรีเป็นคนดี เป็นคนมีความสามารถ เป็นคนที่คิดถึงประเทศชาติและประชาชน

แต่สถานะการสวมหมวก 2 ใบย่อมท้าทาย

ขณะที่ด้านหนึ่ง คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 ให้ระมัดระวังในเรื่องการประชาสัมพันธ์กับการหาเสียง อีกด้านหนึ่ง การดำรงอยู่ของรัฐมนตรีก็เกี่ยวกับโครงการใหญ่จำนวนมาก

นี่จะไม่เป็นการหาเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐหรอกหรือ

คำถามที่มาจากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองอาจไม่หนักหนาสาหัส แต่ถ้ากลายเป็นความข้องใจในหมู่ประชาชน นั่นแหละจะเป็นเรื่อง

เพราะมีผลต่อการตัดสินใจเลือก หรือไม่เลือก

ความคึกคักอันสัมผัสได้จากบรรยากาศการประชุมเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐวันแรก เพียงคล้อยหลังในอีกไม่กี่ชั่วโมงก็กลายเป็นประเด็นกลายเป็นปัญหา

เมื่อมีคำถามถึงการจะลาออกหรือ ไม่ลาออก

เชื่อได้เลยว่าคำถามนี้จะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อและยาวนานพอๆ กับการยื้ออยู่ในตำแหน่งของบรรดาผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐในครม.นั่นเอง

ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับ “ธรรมาภิบาล” เกี่ยวกับ “มารยาท”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน