ไม่ว่า นายอุตตม สาวนายน ไม่ว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่ว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ว่า นาย กอบศักดิ์ ภูตระกูล อาจมีประสบการณ์ในทางธุรกิจ การบริหารมามาก

แต่ 4 คนนี้ไม่เคยตั้ง “พรรคการเมือง” มาก่อน

อย่างน้อย 3 คนก็เคยตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าไปในพรรคไทยรักไทย มีส่วนร่วมในการคิด เสนอนโยบาย

กระทั่งบางคนนำมาอ้างว่าเป็นเจ้าของแนวคิด “โอท็อป”

กระนั้น ประสบการณ์ของพวกเขาอยู่ที่การบริหารธุรกิจ อยู่ที่งานการตลาด แต่แทบไม่รู้เรื่องการสร้างพรรค การก่อรูปขึ้นของพรรคการเมือง

ประการสำคัญยังอยู่ที่รู้จัก “นักการเมือง” น้อย

เหมือนกับว่าการเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค เป็นโฆษกพรรค จะเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ

ไม่ใช่หรอก

ขอถามว่า 4 คนนี้มีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ 4 คนนี้เป็นคนรับผิดชอบอย่างแท้จริงภายในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

หากมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองคงตอบไม่ได้

ตอบไม่ได้เหมือนๆ กับจะอ้างว่าความสำเร็จของ “ทักษิโณมิกส์” ในยุคพรรคไทยรักไทยเป็นฝีมือและความสามารถของตน

ปฏิกิริยาอันมาจาก “สามมิตร” จะเป็นคำอธิบาย

ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ว่าจะเป็น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มีความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ

หากมิใช่คงไม่ได้ “ไฟเขียว”

เป็นความจริงที่ว่า ไฟเขียวซึ่ง “กลุ่มสามมิตร” ได้มา ไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดทางสะดวกโดยตรงจาก “คสช.” หากยังได้น้ำมันหล่อลื่นจากในพื้นที่

ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าตำรวจ ไม่ว่าฝ่ายปกครอง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า บทบาทที่กระหึ่มครึมครางมาจากความสามารถเฉพาะตัวในแบบของ “กลุ่มสามมิตร” เป็นสำคัญ

นี่คือความแหลมคมที่ดำรงอยู่ใน “พลังประชารัฐ”

เพียงยกแรกภายหลังการเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐอย่างอึกทึกครึกโครม บรรดานักการตลาด นักบริหารจากทำเนียบรัฐบาลก็ประสบปัญหา

1 ปัญหาอันเนื่องจาก “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

ขณะเดียวกัน 1 ปัญหาอันเนื่องจากการประสานระหว่างความจัดเจนทางด้านการตลาดกับสภาพความเป็นจริงในทางการเมือง

ปฏิกิริยาจาก “กลุ่มสามมิตร” จึงมีความสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน