บรรยากาศการเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ ณ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 29 กันยายน ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

มิได้เป็นผลสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเป้าหมายในการดูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากพื้นที่ภาคตะวันออก หรือแม้กระทั่งในภาคเหนือ

ขนาดคนนามสกุลเดียวกับรองหัวหน้าพรรคยังถูกดูด

เพราะว่าพรรคเพื่อไทยคือเป้าหมายหลักที่พรรคพลังประชารัฐต้องการดูดอยู่แล้วทั้งจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่ที่หนักยิ่งกว่าคือพรรคในเครือข่ายคสช.ด้วยกัน

หากถือเอาบรรทัดฐานการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สืบทอดอำนาจ ก็ต้องถือว่าพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นพรรคแรกสุดที่ประกาศหลักการนี้

นั่นก็คือ ประกาศตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559

ขณะเดียวกัน อีกพรรคหนึ่งที่ยืนหยัดสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ถึงกับเห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาล “ของเรา”

พลันที่พรรคพลังประชารัฐประกาศตัว ก็ทำให้ทั้งพรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังประชาชาติพลอยต้องหม่นหมองลงไป

กลายเป็นพรรคกระแสรอง มิได้เป็นกระแสหลัก

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคกระแสหลักอย่างแน่นอน เพราะหัวหน้าพรรคคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเปล่งคำว่า “โชคดี”

หากยังกำชับอย่างหนักแน่น หรือเมื่อมีกระแสสังคมกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังยืนยัน

ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว

ถามว่าพรรคประชาชนปฏิรูปได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจระดับนี้หรือ ถามว่าพรรครวมพลังประชาชาติได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจระดับนี้หรือ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่เพียงแต่จากชาวบ้าน หากแม้กระทั่งในกลุ่มพรรคเดียวกัน

จากการเปรียบเทียบและการเคลื่อนไหวในแต่ละจังหวะก้าวเด่นชัดว่าคสช.มอบความมั่นใจไว้กับพรรคการเมืองใดมากที่สุด และพรรคการเมืองใดลดหลั่นรองลงไป

แน่นอน ย่อมเป็น “พลังประชารัฐ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน