คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ความเย้ายวนในเรื่อง “การเลือกตั้ง” อันเนื่องจากพิมพ์เขียวที่กำหนดไว้ใน “โรดแม็ป” ตาม “ปฏิญญานิวยอร์ก”

นำไปสู่ “ปรากฏการณ์” ใหม่ในทาง “การเมือง”

ลองฟังจากน้ำเสียงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลองฟังจากน้ำเสียงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะประจักษ์ในสภาพความเป็นจริง

คน 1 เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย คน 1 เป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งๆ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยประสานเสียงหรือร้องเพลงเดียวกันหรือจังหวะเดียวกันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาก่อนเลย

แต่พอเหยียบเข้าสู่เดือนมกราคม 2560 กลับผิดคาด

บทเพลงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้องคือบทเพลงแห่ง “การเลือกตั้ง” บทเพลงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้องคือบทเพลงแห่ง “การเลือกตั้ง”

นี่คือ สัญญาณในทางการเมือง สะท้อน “แนวโน้ม” ของปี 2560

ถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ตระหนักหรือว่า ตัวเองหมดสิทธิ์ในทางการเมือง ไม่ตระหนักหรือว่าตัวเอง ไม่สามารถมีบทบาทอะไรในพรรคเพื่อไทยได้

ตอบได้เลยว่า “รู้” และรู้เป็นอย่างดี

“วันนี้ ดิฉันถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่าถูกฉีกทิ้งไปแล้ว ก็ขอใช้สิทธิในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จะแสดงความคิดเห็นให้กับบ้านเมือง”

และความคิดเห็นนั้นก็คือ ฝากความหวังไว้กับ “การเลือกตั้ง”

“เราต้องช่วยกันประคับประคองให้สถานการณ์เป็นไปตามแผนที่วางไว้ สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือการที่ทุกฝ่ายเดินเข้าหาโรดแม็ปที่วางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกลับเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนและคนไทยเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ”

ชัดเพียงพอหรือไม่

เช่นเดียวกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองว่า ปี 2560 เป็นปีที่เดินเข้าสู่โรดแม็ประยะที่ 3 มีความแตกต่างจากปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีการลงประชามติ

และเริ่มมองเห็นว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่จะกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง

ในปี 2560 จะเป็นการเดินเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม แม้การเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดในปี 2560 แต่สังคมจะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากขึ้น

ในปีนี้จะตื่นตัวเรื่องทางเลือกและนโยบายมากขึ้น

ความสนใจจะเข้าสู่ปัญหาของประชาชนว่าจะได้รับการแก้ไขหลังการเลือกตั้งอย่างไร และทำอย่างไรไม่ให้มีความขัดแย้งแบบเดิมหลังการเลือกตั้ง

ชัดเพียงพอหรือไม่

พลันที่ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้องเพลงบทเดียวกันในเรื่อง “การเลือกตั้ง”

นี่คือรูปธรรมแห่งการปรองดองโดยพื้นฐาน สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองมีบทสรุปว่า “การเลือกตั้ง” คือเป้าหมาย “ร่วม” และมีความสำคัญ

ปี 2560 จึงเป็นปีของ “พรรคการเมือง” และ “การเลือกตั้ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน