มุมมอง:ต่างชาติส่องเลือกตั้ง

มุมมอง:ต่างชาติส่องเลือกตั้งองค์กรระหว่างประเทศหลายแหล่งเริ่มทำ หนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของ ไทยที่เบื้องต้นกำหนดวันที่ 24 ก.พ.2562

ขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุในทำนองเดียวกันว่า ไม่เป็นมงคล ไทยมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ประเทศ มีปัญหา

นักการเมืองจึงเรียกร้องไฟเขียวให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

ส่วนนักวิชาการ อดีตเลขาธิการกกต. มีความเห็น ดังนี้

ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการกกต.

มุมมอง:ต่างชาติส่องเลือกตั้ง

โดยทั่วไปแม้การเลือกตั้งในสหรัฐ ประเทศทั่วโลกและไทยก็สนใจ บางเรื่องที่มีความสนใจมากๆจะมีคนขอเข้าไปดู

ไทยก็เคยเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ ต่างประเทศ ดูว่ามีคูหาเลือกตั้งอย่างไร ลงทะเบียนอย่างไร และประชาชนเข้าไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างไร แม้กระทั่งขั้นตอนการนับคะแนนเขาก็เปิดให้เข้าสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งเขาไม่ได้มีความเคร่งเครียดอะไรเลย

ตอนที่ไทยมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเชิญต่างประเทศมาสังเกตการณ์ในพื้นที่ใกล้เคียง และที่สะดวกเขา ซึ่งเขาไม่ได้มายุ่งอะไร แค่มาดูวิธีการว่ามีความเป็นสากล ดูเจ้าหน้าที่ ดูการจัดการว่ามีความเรียบร้อยหรือไม่ และดูการนับคะแนนว่ารวดเร็วโปร่งใสหรือไม่ หากเราจัดการเลือกตั้งได้เรียบร้อยตามระเบียบกฎหมายของเราก็ไม่ต้องไปสนใจ และเขาจะชื่นชมเราด้วยซ้ำ

ความสนใจที่ต่างประเทศจะขอเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งนั้นเป็นธรรมเนียม เพราะ

หลังเกิดการรัฐประหารในเวลากว่า 4 ปีนี้ ต่างประเทศคงมองกันอยู่ว่าเมื่อไรเราจะมีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ มีการเลือกตั้งส.ส. และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญและกำหนดวันเลือกตั้งแล้วเขาก็ต้องสนใจ เพราะห่างเหินการเลือกตั้งไปนาน

ถ้าเป็นการเลือกตั้งแบบครบรอบธรรมดาเขาคง ไม่สนใจมากนัก แต่นี่คล้ายว่าจะเปลี่ยนจากระบบรัฐประหารมาเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ จึงสนใจมากที่จะมาสังเกตการณ์

แต่ถ้าไทยไม่ให้เข้ามาก็จะเป็นภาพลบของ ประเทศว่าเลือกตั้งไม่โปร่งใส หรือมีลับลมคมในอะไรหรือไม่ และยิ่งถ้ามีผลการเลือกตั้งออกมาแล้วมีการร้องเรียนว่าไม่สุจริต ยุติธรรม หรือรัฐบาล ข้าราชการมีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกตนเองได้รับเลือกตั้ง ต่างชาติจะไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบกฎหมายก็ตาม

ยืนยันว่าไม่ควรมีลับลมคมในอะไร ให้เข้ามาได้เลย ทุกอย่างไม่มีปัญหา ต่างชาติเข้ามาก็ใช้งบประมาณของเขาเอง

เมื่อเข้ามาแล้วจะได้เห็นว่าการจัดการทุก อย่างมีความโปร่งใส และเราเองจะสามารถอธิบายในสิ่งที่เขาสงสัยให้เข้าใจได้ เมื่อเขาได้รับรู้ข้อมูลแล้วก็จะชื่นชมเรา

ส่วนจะเข้ามาสังเกตการณ์ช่วงไหนนั้นจะเป็นดุลยพินิจของเขาเอง เรามีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้ แต่โดยทั่วไปแล้วทั่วโลกทราบดีอยู่แล้วถึงกระบวนการเริ่มต้นและจบที่ตรงไหน ดังนั้นการที่ให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งจึงมีผล ดีเรื่องความโปร่งใสในการเลือกตั้งและต่อเนื่องไปยังผลทางเศรษฐกิจที่เราจะ ได้รับความร่วมมืออย่างดี เพราะเขาเชื่อในเกียรติศักดิ์ศรี

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติด้วยเช่นกัน

ธนพร ศรียากูล
นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มุมมอง:ต่างชาติส่องเลือกตั้ง

การที่นานาชาติสนใจการเลือกตั้งในบ้านเรา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า เพราะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งสุดท้าย คือปี 2554 จนวันนี้ปี 2561 เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ห่างเหินการเลือกตั้งมานาน

เงื่อนไขสภาพทางสังคมเปลี่ยน แปลงไป การที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทำให้เป็นที่สนใจของชาวโลกอย่างแน่นอน

ส่วนรัฐบาลไทยต้องเชิญนานาชาติมาร่วม สังเกตการณ์หรือไม่นั้น ตามหลักแล้วจะมาเองก็ได้หรือหากเชิญก็จะเป็นการแสดงให้เห็นความก้าวหน้า โปร่งใส ให้ชาวโลกได้เห็น

หากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ก็ควรเชิญนานาชาติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ เพราะไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่กลับถือเป็นความสง่างามของประเทศ ที่กล้าบอกกับชาวโลกว่าเรามีการเลือกตั้ง

ส่วนผลกระทบในสายตาของผู้ที่สนใจอาจหวาดระแวงว่าการเลือกตั้งอาจจะมีความไม่ ตรงไปตรงมาหรือไม่อย่างไร ถึงไม่เปิดโอกาสให้ชาวโลกหรือคนที่สนใจเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ตรงนี้ ซึ่งน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

การที่เขาเข้ามาก็ไม่ได้มีสิทธิ์ในการที่จะมาทำให้เราต้องหวาดระแวงอะไร ถ้าเราคิดว่านี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ และที่ผ่านมาได้ทำอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรเสียหายที่จะมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์ เพราะสังคมทุกวันนี้ข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีการปิดบังยิ่งเกิดความระแวงกันมากกว่า

ถ้าเป้าหมายของรัฐบาลอยากให้ประชาคมโลกได้ เห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ถ้าเราเปิดเผยการเลือกตั้ง เชิญนานาชาติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์จะทำให้สถานภาพของประเทศไทยในการเลือก ตั้งผ่านไปได้ด้วยดี และจะทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่น และเห็นในสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมา

ในยุคปัจจุบันอะไรก็ตามที่จะเปิดเผยได้ อย่าง ตรงไปตรงมา โปร่งใส และกล้าที่จะพิสูจน์ต่อสายตาชาวโลกยิ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น หากยิ่งปิดบังความน่าเชื่อถือจะยิ่งลดลง

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่สายตาประชาคมโลกจะได้เห็นว่าประเทศไทยมีความมั่นคง การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ดุลยภาค ปรีชารัชช

อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
มุมมอง:ต่างชาติส่องเลือกตั้ง

ต้องนิยามขอบเขตผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากนานาชาติก่อนว่ากินความไปยัง กลุ่มใดบ้าง หากหมายถึงนักข่าว ตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หรือสหภาพยุโรป(อียู) รัฐบาลอาจเปิดทางให้เข้ามาได้บ้าง

หากเป็นตัวแทนระดับสูง ที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำรายงานผลการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญนั้นคงต้องรอดู

ท่าทีที่อ่อนไหวจากรมว.ต่างประเทศนั้น สะท้อนถึงระบอบการปกครองที่มีลักษณะอำนาจนิยมที่ครองอำนาจอยู่ หวั่นเกรงว่า การเปิดทางให้นานาชาติเข้ามามีส่วนร่วม อาจนำไปสู่การแทรกแซงผลการเลือกตั้ง ไม่ให้เป็นไปในทิศทางการเมืองที่พวกเขากำลังคุมเกมอยู่

รัฐบาลไทยจึงมีความกังวลหากเปิดให้มีผู้ สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากทุกระดับเข้ามาว่า จะไม่เป็นคุณต่อระบอบการเมืองที่กองทัพและชนชั้นนำกำกับทิศทางการเปลี่ยน ผ่านตามโรดแม็ปที่วางไว้

มองว่ารัฐบาลจะใช้ศิลปะในการเชิญตัวแทนจาก นานาชาติเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างพอเหมาะพอควร ไม่เยอะ จนเกินไป โดยไม่ให้เป็นภัยกับระบอบอำนาจนิยม อันหมายถึงความหวาดระแวงการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจากข้างบนลงข้างล่าง ที่ชนชั้นนำกำลังคุมเกมอยู่

เพราะหากปล่อยให้ประชาคมโลกส่งผู้ สังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้ามาแล้วเกิดผลการเลือกตั้งออกมาว่า ฝ่ายตรงข้ามชนะ นี่จะเป็นเงื่อนไขในการรับรองความชอบธรรมในผลที่ออก ซึ่งจะส่งผลให้ ระบอบคสช. ไม่เป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ แต่หากฝ่ายคสช.ชนะ นี่ก็จะเป็นการรับรองความชอบธรรม

ดังนั้นปัจจัยภายนอกในบางครั้งก็ส่งเสริมประชาธิปไตย ทว่าซ้ำร้ายก็อาจเป็นการส่งเสริมความชอบธรรมให้ระบอบเผด็จการได้เหมือนกัน

ตัวเปรียบเทียบในอาเซียน คือการเลือกตั้งกัมพูชาเมื่อช่วงกลางปี ที่รัฐบาลฮุนเซนชนะถล่มทลาย ท่ามกลางการยุบพรรคฝ่ายตรงข้าม ควบคุมสื่อ ก็มีการเปิดให้ตัวแทนจากต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์พอประมาณ ฝั่งตะวันตกอย่างอียูและสหรัฐ ประกาศไม่ยอมรับผลที่ออกมา แต่จีนให้การรับรอง

จึงต้องยอมรับว่า บทบาทของต่างชาติบางแห่งที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบอบเสรีประชาธิปไตย ก็จะมีผลกับส่วนนี้

 

อังคณา นีละไพจิตร
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

มุมมอง:ต่างชาติส่องเลือกตั้ง

เรื่องการมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็น เรื่องที่มีมานานมากแล้ว และมีกันแทบทุกประเทศ อย่างล่าสุดในแถบเอเชีย เช่น การเลือกตั้งในประเทศเมียนมาหรือมาเลเซีย ก็มีผู้เชี่ยวชาญองค์กรระหว่างประเทศ
หรือองค์กรการเลือกตั้งเสรีเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย

หรือในประเทศไทยสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร

ส่วนตัวจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากรัฐบาลจะเปิดให้องค์กรต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องปกปิด และเราเคยทำมาตลอดด้วย

หากองค์กรนั้นๆ เข้ามาสังเกตการณ์แล้วมีการเขียนรายงานออกมาซึ่งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เราก็สามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้

ถ้ารัฐบาลไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง จะทำให้ต่างชาติเกิดความสงสัยได้ว่าเรามีอะไรแปลกๆหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันมาตลอดว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ดังนั้นจึงไม่มีอะไรเสียหาย

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่เปิดให้องค์กรต่างชาติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง คงไม่มีผลกระทบอะไรกับรัฐบาล เพราะต่างชาติไม่สามารถบีบบังคับอะไรเราได้ แต่เราจะถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่โปร่งใสได้

การเปิดให้มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เข้ามา จะช่วยแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ โปร่งใส เพราะผู้สังเกตการณ์ถือเป็นคนนอก จะยิ่งทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับ เป็นที่น่าเชื่อถือ

เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีองค์กร จากต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งมากขึ้น เพราะเป็นการเลือกตั้งภายหลังการทำรัฐประหาร ขณะที่ผู้สังเกตการณ์เองจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีหลักของความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เอนเอียง

ส่วนข้อเสนอของนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ที่ให้มาดูตั้งแต่ตอนนี้ที่มีขั้นตอนการเลือกผู้บริหารพรรค เพื่อทำให้บรรยากาศชัดเจนโปร่งใส

ถือเป็นการเปิดทางตั้งแต่ต้นของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ขึ้นกับผู้สังเกตการณ์ที่จะพิจารณาว่าจะเข้ามาสังเกตการณ์ในช่วงเวลาใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน