คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

พลันที่ที่ประชุมร่วม 1 ครม. 1 คสช.ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

ฝ่าย “การเมือง” ต่างสงบนิ่งอยู่ใน “ที่ตั้ง”

ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคชาติไทยพัฒนา และไม่ว่าจะมองผ่านพรรคประชาธิปัตย์

ทุกสายตาต่างมองไปยัง “คสช.”

ไม่ว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไม่ว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างสงบปาก สงบคำ

ยอมรับในสภาวะอันเกิดขึ้น

ความสุกงอมอย่างยิ่งก็คือ มีความเป็นไปได้ที่ “โรดแม็ป” จะต้องแปรเปลี่ยน ทั้งยังเป็นการแปรเปลี่ยนในลักษณะที่จำเป็นต้อง “เลื่อน” ไป

ปี 2560 คงไม่มี “การเลือกตั้ง”

จังหวะ 1 อันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนในเรื่องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ก็คือการขยับในเรื่อง “การปรองดอง” ประสานกับ “การปฏิรูป”

การปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะ

ขณะเดียวกัน การปรองดอง สมานฉันท์ มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามารับผิดชอบในฐานะประธาน

เท่ากับยอมรับบทบาทในการประสาน 10 ทิศ

บทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เพียงประสานเพื่อนพ้องน้องพี่ภายในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นบูรพาพยัคฆ์ ไม่ว่าจะเป็นวงศ์เทวัญ ดำเนินไปอย่างไร้รอยต่อ เนียนและนุ่ม หากแต่ยังสามารถต่อสายไปยังฝ่ายการเมืองได้เป็นอย่างดี

เหมาะสมแล้วที่จะเล่นบท “ปรองดอง”

ระยะเวลา 1 ปีของพ.ศ.2560 จึงมิใช่เรื่องของ “การเลือกตั้ง” หากแต่น่าจะเป็นเรื่องของ 1 การปฏิรูป และ 1 การปรองดอง

ทุกอย่างเป็นไปตามคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้มองเห็นได้ว่า หากไม่มี “การปฏิรูป” กระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาซึ่งหมักหมมมาต่อเนื่องกว่า 1 ทศวรรษได้

“ปรองดอง” ก็เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้กับ “การเลือกตั้ง”

อย่างน้อยการออกมาให้คำมั่นว่า “พร้อมยอมรับผลการเลือกตั้ง” จาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ไม่ว่าจะพูดในนามผบ.ทบ. ไม่ว่าจะพูดในนามเลขาธิการคสช.ก่อให้เกิด “ความหวัง”

ความเข้าใจอย่างนี้แหละคือพลังอันทรงความหมายในเรื่อง “ปรองดอง”

กระนั้น กล่าวในทาง “การเมือง” ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงมิได้อยู่ที่ “คำพูด” หากแต่อยู่ที่ “การปฏิบัติ”

มีนักการเมืองจำนวนมากที่ล้มเหลวในชีวิต เพราะพูดออกมาแล้วไม่สามารถแปรนามธรรมแห่งคำพูดให้กลายเป็นรูปธรรมทางการกระทำได้

“ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” จึงต้องดูผลจากการลงมือ มิใช่จากคำพูด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน