คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ข้อเสนอจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความคิด วิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง

ให้นำเอาหลักการจาก คำสั่งที่ 66/2523 มาใช้

ถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สอดรับกับ “บทเรียน” และ “ความเป็นจริง” ที่กองทัพสะสมความจัดเจนเอาไว้เป็นอย่างสูง

เพราะปี 2523 เพิ่งผ่านพ้นไปเพียง 30 ปีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จจากคำสั่งที่ 66/2523 ก็แสดง “รูปธรรม” ออกมาอย่างเด่นชัด สัมผัสและแตะต้องได้

ความหมายก็คือ สามารถยุติ “สงครามกลางเมือง”

เป็นสงครามที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่สถานการณ์แตกเสียงปืนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 จาก อ.นาแก จ.นครพนม แล้วขยายออกไปในขอบเขตทั่วประเทศ

เป็นความสำเร็จในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หากเปรียบเทียบสถานการณ์จากเมื่อเดือนสิงหาคม 2508 กับ สถานการณ์อันเกิดขึ้นในห้วงกว่า 1 ทศวรรษ นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน

ความขัดแย้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2508 เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงถึงกับมีการใช้อาวุธ มีการจัดตั้งกองกำลังถึงขั้นเรียกตนเองว่า “กองทัพปลดปล่อย”

เป็นการลุกขึ้นสู้ของขบวนการ “คอมมิวนิสต์” กับ “รัฐบาล”

ความรุนแรงครั้งนั้นหากสืบสาวราวเรื่องก็ผ่านลักษณะประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทั่งยุคของรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร กว่าจะสามารถสรุปและหาทางออกได้ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ผ่านหลักการ “การเมืองนำการทหาร” ไม่ใช่ “การทหารนำการเมือง”

กรณีที่เกิดขึ้นในห้วง 1 ทศวรรษกว่ามานี้อาจเป็นเรื่องเล็กอย่างมากหากเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยนับแต่เดือนสิงหาคม 2508 เป็นต้นมา

แต่กระแสความขัดแย้งไหลเชี่ยว ซึมลึกอย่างยิ่งจนถึงรากฐาน

เห็นได้จากแม้จะมีความพยายามอาศัยกระบวนการรัฐประหารจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาเป็นเครื่องมือ

แต่แทนที่จะสำเร็จ กลับยิ่งทำให้ “ปัญหา” กระจาย ขยายออกไป

กระจายและขยายออกไปกระทั่งมีความรู้สึก “ร่วม” ว่า ถ้าหากไม่มีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องผลสะเทือนจะยิ่งกว้างไกล และสร้างความเสียหายขึ้นอย่างใหญ่หลวง

ความรู้สึก “ร่วม” นี่แหละที่ผลักรุนให้จำเป็นต้อง “ปรองดอง”

ทั้งๆ ที่มีบทสรุปอย่างเห็นพ้องต้องกันในเรื่อง “ปรองดอง” แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะ “ปรองดอง” กันอย่างไร

ข้อเสนอให้ศึกษาบทเรียนจากคำสั่งที่ 66/2523 อันเป็นผลงานและความสำเร็จในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นตัวอย่าง 1 เป็นตัวอย่างสำคัญ

คำถามอยู่ที่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเห็นด้วยหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน