คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ไม่ว่าจะเป็นความตกใจจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นความตกใจจาก นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช.

ต่อคะแนนที่ลดลงในด้าน “ความโปร่งใส”

เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และสามารถเข้าใจได้ใน “อาการ” เพราะยากอย่างยิ่งที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือ นายสรรเสริญ พลเจียก จะยอมรับได้

ไม่มีใครข้องใจใน “ความโปร่งใส” ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเข้ามากับรัฐบาลคสช. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับความเชื่อถือในเรื่องที่อยู่ห่างไกลจากกรณี “ทุจริต คอร์รัปชั่น”

หากไม่มากด้วยความมั่นคง ก็ไม่น่าจะยืนระยะมาได้ถึง ณ วันนี้

เช่นเดียวกับ ไม่มีใครข้องใจใน “ความโปร่งใส” ของ นายสรรเสริญ พลเจียก เพราะเลขาธิการป.ป.ช. ย่อมไม่อาจทำอะไรได้นอกเหนือจากมติของป.ป.ช.ไปได้

แล้วน้ำหนักที่จ้องไปยัง “ความโปร่งใส” อยู่ตรงไหน

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถ “โบ้ย” ว่าคะแนนที่ออกมาเป็นเรื่องของ “อดีต” เพราะรายงานขององค์การความโปร่งใสระหว่างประเทศก็บ่งชี้อย่างแจ่มชัด

เป็นรายงาน “ประจำปี 2016” ซึ่งก็คือ “ปี 2559”

ปี 2559 มิได้เป็นยุคของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มิได้เป็นยุคของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และมิได้เป็นยุคของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ยิ่งรายงานเน้นในเรื่อง “ประชามติ” ยิ่งมีความตรงไปตรงมา

จึงเห็นได้ว่า ประเด็นในเรื่องของ “ความโปร่งใส” เขามิได้เน้นในเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น อย่างชนิดโต้งๆ ตรงกันข้าม เขาย้ำให้เห็นความสำคัญของ “ประชาธิปไตย” ชี้ให้เห็นว่าการคุกคาม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็น “คอร์รัปชั่น” อย่างหนึ่ง

เป็นคอร์รัปชั่น “อำนาจ” และทำให้คะแนน “ความโปร่งใส” อ่อนด้อยลง

อย่าคิดว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพจะแวดล้อมอยู่ในบรรยากาศแห่ง “ประชามติ” ในเดือนสิงหาคม 2559 เท่านั้น ตรงกันข้ามสัมผัสได้มากกว่านั้น

อย่างเช่นกรณีของ “อุทยานราชภักดิ์” เป็นต้น

แม้แต่คนที่พยายามจะนั่งรถไฟไปยังอุทยานราชภักดิ์ก็ถูกสกัดขัดขวาง ไม่เพียงแต่ที่สถานีรถไฟ หากแม้เมื่อไปถึงสถานีบ้านโป่งก็ถูกตัดขบวน

คนเหล่านี้ถูกประกาศและคำสั่งของคสช.นำตัวส่งฟ้อง “ศาลทหาร”

ต่อให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะพยายามแก้ต่างให้อย่างไร แต่ความฉาวโฉ่ของเรื่องเหล่านี้ก็ฟ้องออกไปในขอบเขตทั่วโลก ไม่มีใครสามารถปิดบังอำพรางได้

น่าเห็นใจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นอย่างมาก

จาก “ความโปร่งใส” ในกรณี “ประชามติ” ก็ขยายเข้ามายัง “ความโปร่งใส” ในเรื่องของการ “ปรองดอง”

แสงแห่งสปอตไลต์ย่อมฉายจับไปยังบรรดาแม่ทัพ นายกอง ที่จะมานั่งเป็นพระอันดับเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของ นักวิชาการ ประชาชน และภาคธุรกิจ

เป็นการปรองดองในบรรยากาศต่างไปจาก “ประชามติ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน