คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

พลันที่การขับเคลื่อน “ปรองดอง” เริ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโดยไม่ยอม “ปลดล็อก” คำสั่งคสช.ในเรื่องอันเกี่ยวกับ “พรรคการเมือง”

แต่ถามว่า “พรรคการเมือง” อยู่เฉยๆ หรือไม่

หากดูบทบาทของ “นักการเมือง” แต่ละราย ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ เห็นได้ชัดว่าล้วนมีการเคลื่อนไหว

เห็นได้จาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เห็นได้จาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง

ถามว่านักการเมืองเหล่านี้อยู่เฉยๆ หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ พวกเขาหากไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ก็เขียนความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก

จากนั้น “หนังสือพิมพ์” ต่างๆ ก็หยิบเอาไปเป็น “ประเด็น”

ทางซีกของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเล่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีกิจกรรมไม่ขาดสาย ล่าสุดก็ไปบรรยายที่สถาบันพระปกเกล้า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้รับความสนใจ

มิได้เป็นการเคลื่อนในนาม “พรรคการเมือง” อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน หากดูจากสภาพการเคลื่อนไหวในเชิงเปรียบเทียบก็จะสามารถเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์มีความเข้มแข็ง เอาการเอางานมากกว่าพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยมี “เจ้าประจำ” เพียงไม่กี่คน

ที่ปรากฏป็นข่าวบ่อยๆ แทบจะทุกวันเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เช่นเดียวกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ซึ่งคนหลังออกมาในทางเศรษฐกิจ

แต่ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์มี “ดารา” เป็นจำนวนมาก

อย่าว่าแต่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อย่าว่าแต่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ซึ่งอยู่ในสถานะรองหัวหน้าพรรค หากแม้กระทั่ง นายวัชระ เพชรทอง และ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ก็มีบทบาทในการออกมาเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไม่ขาดสาย

ยิ่ง นายถาวร เสนเนียม ยิ่งเล่นบทบาทดุดัน

นายถาวร เสนเนียม ดำเนินไปอย่างเหลื่อมซ้อนระหว่างบทบาทรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับ บทบาทที่เคยเป็นมือขวาให้กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผ่าน “มวลมหาประชาชน”

รูปธรรมล่าสุด คือ การถูกกล่าวหาว่าอยู่ข้างหลัง “ชาวนา” ที่สงขลา

การเคลื่อนไหวนี้มี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยกระพือให้เป็นเรื่องครึกโครม

หวังจะให้งอก่องอขิงเหมือนบรรดาอดีตส.ส.จากพรรคเพื่อไทย

ตรงกันข้าม เมื่อเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่า นายถาวร เสนเนียม ไม่ว่า นายเจือ ราชสีห์ ไม่มีใครงอก่องอขิง หากเดินหน้าเข้าปะทะกับ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ตรงตัว

เห็นหรือไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม

เมื่อคสช.ผลักดันในเรื่อง “ปรองดอง” นับแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นมา นี่คือแนวโน้มใหม่ทางการเมือง

แม้คสช.จะยังไม่ยอม “ปลดล็อก” จากคำสั่งของคสช.ตั้งแต่หลังรัฐประหาร แต่อย่าลืมว่า ณ วันนี้ รัฐประหารผ่านพ้นมาแล้วกว่า 2 ปีและเข้าสู่ปีที่ 3

พรรคการเมืองย่อมสะสมบทเรียน ความจัดเจนในการเคลื่อนไหวมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน