คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สถานการณ์ “ปรองดอง” เริ่มเข้าสู่บาทก้าวที่ 1 แล้วอย่างบริบูรณ์เมื่อมีการประกาศรายชื่อ “คณะกรรมการ” แต่ละชุดออกมา

โดยมี “รองนายกรัฐมนตรี” เข้าไปกำกับและควบคุม

กล่าวโดยองค์รวม คณะกรรมการทั้งหมดครอบคลุมทั้งในเรื่อง “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” อันเป็นเป้าหมายใหญ่ เป้าหมายหลัก

กระนั้น ความสนใจก็พุ่งไปยังเป้าหมาย “ปรองดอง”

รายชื่อ “คณะกรรมการ” ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงได้รับความสนใจอย่างเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะชื่อของ นพ.ประเวศ วะสี

เห็นได้จากเมื่อไม่เห็นชื่อก็ได้รับการสอบถามทั้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

และปรากฏว่าถึง นพ.ประเวศ วะสี ไม่มาแต่ก็พร้อม “ช่วยเหลือ”

ความจริง มีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้รับความสนใจและคสช.ก็ส่งเทียบเชิญให้เข้ามาร่วมส่วนกับกระบวนการ “ปรองดอง”

เห็นจากรายชื่อของ นายคณิต ณ นคร ที่เคยทำงาน “คอป.”

เห็นจากรายชื่อของ นายสุจิต บุญบงการ ที่มีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เรื่อยมาจนถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และรวมถึงรายชื่อของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

มองอย่างเปรียบเทียบกับ นายคณิต ณ นคร และ นายสุจิต บุญบงการ ชื่อของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อาจจะยังใหม่ ทั้งๆ ที่บทบาทระยะหลังของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เน้นอย่างหนักแน่นไปยังเรื่องของ “ปรองดอง” โดยเฉพาะเมื่อเข้าร่วมเป็น “แม่น้ำ 5 สาย” ในสปช.

กระนั้นชื่อของ นพ.ประเวศ วะสี ก็ยังโดดเด่น

แท้จริงแล้ว นพ.ประเวศ วะสี มิได้เพิ่งได้รับความสนใจให้เข้าร่วมส่วนกับ “ปรองดอง” เป็นหนแรก ในยุคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นพ.ประเวศ วะสี ก็ได้รับเทียบเชิญเหมือนกัน

นั่นก็คือ เข้าไปทำงาน “ปฏิรูป” พร้อมกับ นายอานันท์ ปันยารชุน

คณะกรรมการชุดของ นายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี ปรากฏขึ้นภายหลังสถานการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ผลของการเข้าไปของผู้อาวุโสทั้ง 2 เป็นอย่างไรแทบไม่มีคำตอบ

เพราะคำตอบ 1 เห็นได้จากสถานการณ์ “ชัตดาวน์” กรุงเทพมหานครตอนปลายปี 2556 และตามมาด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

แล้ว นพ.ประเวศ วะสี ก็เข้าร่วมสถานการณ์ “ปรองดอง” ครั้งใหม่

การหนุนช่วยจาก นพ.ประเวศ วะสี จึงมีความสำคัญอย่างเป็นพิเศษต่อสถานการณ์ “ปรองดอง” สมานฉันท์

เพราะ นพ.ประเวศ วะสี เป็น “นักคิด” และมีส่วนอย่างสำคัญในการขยับเขยื้อนเคลื่อนภูขา สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

คำถามอยู่ที่ว่า “คณะกรรมการปรองดอง” จะตีประเด็นความคิดแตกได้แค่ไหน เพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน