คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

หนังสือเชิญจากคณะกรรมการเตรียมการปรองดองสมานฉันท์ไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคที่จดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ได้กลายเป็น “เครื่องมือ” ในการ “ละเมิด”

ผลก็คือ ประกาศและคำสั่งอันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ห้ามการประชุม ห้ามการเคลื่อนไหวต้องกลายเป็นหมันไปโดยพื้นฐาน

แม้จะยังไม่มีการ “ยกเลิก” อย่างเป็นทางการ

แต่คณะกรรมการเตรียมการปรองดองสมานฉันท์ก็ต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองมิอาจจัดทำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือเลือกตัวแทนได้อย่างเด็ดขาดหากไม่มีการประชุม

เพียงแต่กระทำขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ กระทำขึ้นอย่างละเมิด

คสช.ไม่อาจยื่นมือไปสกัดขัดขวาง มาตรการแบบเดียวกับที่เคยทำตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ถูกระงับชั่วคราว

นี่ย่อมเป็นผลพวงอันมาพร้อมกับ “ปรองดอง”

ตรงนี้แหละที่ทำให้กระบวนการ “ปรองดอง” ซึ่งกำลังขับเคลื่อนอยู่มีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับกระบวนการ “ประชามติ”

นี่คือ “มิติ” ใหม่ในทาง “การเมือง”

ในห้วงแห่งการขับเคลื่อน “ประชามติ” เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 พรรคการเมืองมิอาจประชุม สรุป หรือหารือกันได้อย่างเป็นทางการ

“มติ” หรือ “แถลงการณ์” ที่ออกมาอาจมี แต่มิใช่ถูกต้อง ชอบธรรม

กล่าวสำหรับคสช.และรัฐบาลอาศัยกลไกแห่ง “กองกำลังรักษาความสงบ” หรือ “กกล.รส.” สนธิกำลังทั้ง พลเรือน (กระทรวงมหาดไทย) ตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ทหาร (กระทรวงกลาโหม) ออกเคลื่อนไหวให้ “รับ” และสกัดขัดขวางฝ่ายที่ “ไม่รับ” อย่างเต็มที่

แต่พอเข้าสู่สถานการณ์ “ปรองดอง” ถึงอยากทำ แต่ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว

มีความพยายามจะนำเอา “มาตรการ” ในห้วงก่อน “ประชามติ” มาใช้ดังเห็นได้จากการขับเคลื่อนของ “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” หรือ “ศปป.”

เห็นได้จากการไม่ยอมยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.เกี่ยวกับการชุมนุม

แต่ก็เป็นการขับเคลื่อนในลักษณะ “เฉพาะส่วน” ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถใช้อำนาจในการสกัดและขัดขวางบทบาทของพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองได้

เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง “ปรองดอง” ก็จะมีปัญหา

ปัญหาในที่นี้ก็คือ “ปรองดอง” จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมี “คู่” จะปรองดองฝ่ายเดียวไม่ได้ จะบังคับกดดันแบบใช้อำนาจไม่ได้

“ปรองดอง” จึงต้องตีคู่มากับ “ประชาธิปไตย”

ได้มีเสียงเตือนในเรื่องบทบาทและความหมายในตัวเองของคำว่า “ปรองดอง” มาอย่างต่อเนื่อง

แต่ดูเหมือนว่าบางส่วนภายใน “คสช.” และบางส่วนภายใน “รัฐบาล” อาจไม่ได้ทั้งสำเหนียกและตระหนักอย่างเป็นจริง

ที่ไม่ควรล้มอย่างเด็ดขาดก็คือ “ประชาธิปไตย” ต้องมากับ “ปรองดอง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน