อาการ ลุงป้า ธนาธร อนาคตใหม่ ทำไม หงุดหงิด

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อาการ ลุงป้า ธนาธร อนาคตใหม่ – เห็น “อาการ” ของบรรดา “ลุงๆ ป้าๆ” ต่อคะแนนและความนิยมของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วก็ทั้งเข้าใจและเห็นใจ

เข้าใจว่าเหตุใดลุงๆ ป้าๆ จึงรู้สึกอย่างนั้น

เห็นใจว่าความรู้สึกอะไรทำให้ลุงๆ ป้าๆ ทนไม่ได้ จำเป็นต้องลุกขึ้นมาแสดงปฏิกิริยาทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน และรุนแรง แข็งกร้าว

ไม่ว่า “ป้าศัลยา” ไม่ว่า “ลุงเสรี”

ถึงขนาด “ลุงเอนก” ถึงกับมองคล้ายกับเป็น “อ้ายตัวร้ายตัวใหม่” ที่จะเข้ามาแทนที่และแสดงบทบาทแทน “อ้ายตัวร้ายตัวเก่า”

เข้าใจ และเห็นใจอย่างยิ่งยวด

ทั้งหมดนี้คือรูปธรรมที่นักสังคมวิทยา ตั้งแต่ยุค ดร.วิบูล ธรรมวิทย์ กระทั่งมาถึง ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เรียกร่วมกันว่า เป็น “ช่องว่าง”

เริ่มต้นจากช่องว่างระหว่าง “วัย”

เพราะว่าไม่ว่าลุงไม่ว่าป้าล้วนเข้าสู่หรือใกล้กับหลักเลข 6 แล้วทั้งสิ้น ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพิ่งเข้าสู่หลัก เลข 4

ห่างกันร่วม 20 ปี

เมื่อเกิดก่อนเกิดหลัง เมื่ออายุบ่งบอกความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญก็นำไปสู่ภาวะแตกต่างในทางความคิด

แรกที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ร่วมกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล บรรดาลุงๆ ป้าๆ ก็ทอดตามองอย่างหมิ่นแคลน

เห็นว่าพวกนี้โลกสวย อยู่กลางทุ่งลาเวนเดอร์

เมื่อหมิ่นแคลนก็ไม่ให้ความสำคัญ มองข้ามบทบาทและความหมาย แต่ที่ไหนได้เวลาเพียงไม่กี่เดือนพวกนี้ก็สร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาอย่างอึกทึก ครึกโครม

รูปธรรมสำคัญก็คือ สามารถดึง “คนรุ่นใหม่” ให้มาห้อมล้อม

บรรดาลุงๆ ป้าๆ ก็มีพรรคการเมืองของตนเหมือนกัน แต่ยิ่งทำยิ่งเงียบเหงา เศร้าหมอง ตรงกันข้ามกับความคึกคักของพรรคอนาคตใหม่

จึงก่อให้กระบอกตาร้อนผ่าวขึ้นมาโดยพลัน

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง มีตัวอย่างมากมาย ไม่ว่าในต่างประเทศ ไม่ว่าในประเทศไทย ใครที่เคยผ่านเหตุการณ์ก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 ย่อมรู้ดี

บรรดาลุงๆ ป้าๆ ก็เคยผ่านมาแล้ว

น่าเศร้าก็ตรงที่ เมื่อผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ลุงๆ ป้าๆ ทั้งหลายก็กลายเป็นคนแก่ไปเรียบร้อย

จึงมองคนรุ่นใหม่ด้วยความหงุดหงิด ทั้งยัง เศร้าหมอง หมดหวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน