วิเคราะห์การเมือง

เหมือนกับกรณีของ “ทศกัณฐ์” ชัยชนะจะเป็นของกระทรวงวัฒนธรรม ชัยชนะจะเป็นของฝ่ายที่ออกมาปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของ “ทศกัณฐ์”

เป็นเช่นนั้น

เพราะในที่สุดแล้ว บัณฑิต ทองดี และทีมงานเอ็มวี “เที่ยวไทยมีเฮ” ก็จำเป็นต้องปรับปรุงและแก้ไขไปตามข้อเรียกร้องของบรรดาผู้ห่วงใยในความศักดิ์สิทธิ์ของโขน

และความโอ่อ่าอลังการของ “ทศกัณฐ์” ซึ่งมากด้วย “บารมี”

นั่นก็คือ การยอมตัดฉากบางฉากออกไป โดยเฉพาะฉากที่ “ทศกัณฐ์” หยอดขนมครก ผลก็คือเอ็มวีนี้ถูกมองว่าขาดความสมบูรณ์นั่นเอง จึงจำเป็นต้องปรับแต่งเสียใหม่

นี่เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้

เข้าใจได้เพราะว่ากระบวนการทำเอ็มวีของ บัณฑิต ทองดี 1 สัมพันธ์กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสัมพันธ์กับกระทรวงวัฒนธรรม

เพื่อความอยู่รอดจึงจำเป็นต้อง “ปรับ”

อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีการทำโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเอ็มวี ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ใดที่ปลอดจากการปรับปรุงและแก้ไข

1 งานอย่างนี้มิได้เป็นศิลปะอย่างที่เรียกว่า “บริสุทธิ์”

ตรงกันข้าม 1 เป็นศิลปะอย่างที่เรียกกันว่าเป็น “พาณิชยศิลป์” สัมพันธ์กับการค้า สัมพันธ์กับการตลาด และถือว่าเป็นงานโฆษณา

หากเป็นศิลปะเกินไปก็ไม่ “เข้าตา”

กระนั้น การลองของโดย บัณฑิต ทองดี ครั้งนี้ด้วยการแหย่เข้าไปในปริมณฑลของวรรณคดี และในปริมณฑลการแสดงอย่างที่เรียกว่า “ของสูง” ด้วยท่วงทำนองแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่ ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ทราบในทางสังคมอย่างมีความหมาย

ทำให้รู้ “กระบวนการ” ในทางความคิดของสังคมว่าเป็นอย่างไร

ทุกอย่างจะเป็นไปตามหลัก นั่นก็คือ เมื่อมีอิฐก้อนแรกก็จะมีอิฐก้อนที่ 2 เมื่อคลื่นระลอกแรกสาดซัดเข้ามาก็ย่อมจะมีคลื่นลูกที่ 2 สาดซัดตามมา

วงการนี้มากด้วย “ครีเอทีฟ” อยู่แล้ว

เพราะหากไม่ทำอะไรในเชิง “ครีเอทีฟ” ก็ยากจะเข้าตา หรือได้รับความสนใจ แม้กระทั่ง “ลูกค้า” เองก็เรียกร้องลักษณะสร้างสรรค์ทำนองนี้

จากนี้ไปบรรดา “ผู้เฒ่า” ทั้งหลายก็ต้องเตรียมตัว เตรียมใจ

อย่างน้อยปฏิบัติการครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ “ทศกัณฐ์” ลงมาเดินดิน กินข้าวแกง ร่วมกับชาวบ้านร้านตลาดเท่านั้น

หากแต่ยังทำให้ภาพลักษณ์แห่ง “โขน” กลายเป็นภาพธรรมดา

ทั้งหมดนี้คือ การปะทะในทางความคิด การปะทะในทางวัฒนธรรม จากฐานความคิดที่แตกต่างกัน

ฝ่าย 1 มองว่าวัฒนธรรมดำเนินไปอย่างไหลเรื่อยในแบบอนิจจัง ขณะเดียวกัน ฝ่าย 1 มองว่าวัฒนธรรมมีลักษณะหยุดนิ่ง สถิตอย่างขรึมขลัง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งๆ ที่หลักแห่งอนิจจัง คือ หลักแห่งความไม่เที่ยง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน