จับตา250ส.ว. แม่น้ำสายเดิมๆ

บรรยากาศการเมืองในห้วงนับถอยหลัง 20 วันก่อนถึงเลือกตั้ง 24 มีนาคม หลายอย่างสะท้อนให้เห็น

รัฐบาลคสช.ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พ่วงแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ หรือพปชร.

เกาะกุมความได้เปรียบไว้ได้ทุกจุด

สัปดาห์ที่ผ่านมา สปอตไลต์การเมืองฉายจับไปยังกระบวนการได้มาซึ่งส.ว. 250 คน ช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และให้มีส่วนร่วมกับส.ส. 500 คน

โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีส.ว. 250 คน ซึ่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา

มีที่มาด้วยกัน 3 ทาง ได้แก่ จากการสรรหาโดย คสช. 194 คน มาโดยตำแหน่งในกองทัพ 6 คน และจากการคัดเลือกกันเองของ 10 กลุ่มอาชีพ ก่อนส่งชื่อให้คสช.คัดเหลือ 50 คน

ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ

ในส่วนส.ว. 194 คน ล่าสุดอังคารที่ผ่านมา คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ขึ้นมา 1 คณะ มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน

รายชื่อกรรมการสรรหาฯ คนอื่นๆ ที่ได้รับการเปิดเผยเบื้องต้น ประกอบด้วย

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงานและรองหัวหน้า คสช., นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิก คสช. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย

ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) บัญญัติไว้ว่า

ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ซึ่งคสช.แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา

คณะกรรมการสรรหาชุดนี้จะคัดเลือกบุคคลที่จะเสนอให้เป็นส.ว. 400 คน ให้คสช.เลือกขั้นสุดท้ายเหลือ 194 คน สำรองอีก 50 คน โดยต้องคัดให้เสร็จภายใน 15 วันก่อนเลือกตั้ง นั่นคือภายในวันที่ 9 มี.ค.

หากดูจากรายชื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ข้างต้น นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะพบว่ากรรมการสรรหาฯ ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มเดียวกับ คสช. ที่จะเป็นคนคัด 194 ส.ว.รอบสุดท้าย

นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า แนวทางสรรหาส.ว. จะเอาจากคนที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาประกอบกัน

จากหลายพันชื่อ คณะกรรมการสรรหาฯ มีหน้าที่คัดกรอง เหลือ 400 คน เพื่อส่งให้คสช.คัดเหลือ 194 คน เพื่อไปรวม กับ 50 คนและ 6 คน เป็น 250 คนโดยสมบูรณ์

จากที่มาของ 250 ส.ว.ดังกล่าวไม่ว่าจะทางใดแบบไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่เหมือนกันคือ คสช.จะเป็นคนชี้ขาดในขั้นตอน สุดท้ายด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ส.ว.ที่กำลังจะตั้งขึ้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไปในทางไม่ดีนัก ว่า เป็นกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจ คสช. เหมือนกับกลไกพรรคพลังประชารัฐ แม่น้ำ 5 สาย กองทัพ ข้าราชการ และองค์กรอิสระ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อครหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นศูนย์กลางการถูกโจมตีจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ที่มองว่าการสรรหาส.ว.

เป็นการชงเอง-กินเองของฝ่ายผู้ถืออำนาจ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดทั้งมวล หากจะว่าไปแล้วล้วนสืบเนื่องจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานะเป็นทั้ง นายกฯ เป็นหัวหน้าคสช. และที่สำคัญยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง

ประเด็นใหญ่ที่เป็นจุดอัปลักษณ์ อยู่ตรงการเปิดช่องให้ส.ว.จากการ “ลากตั้ง” ของคนไม่กี่คน มีสิทธิเท่าเทียมกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

“เป็นเรื่องของการมีสองสภา แม้ส.ว.จะตั้งมาจากผม แต่ถามว่าพวกคุณจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ ทุกคนต่างก็รักประเทศ อย่าหวงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตยอยู่แต่เพียงพรรคการเมือง นักการเมือง” หัวหน้า คสช.ระบุ

การที่แกนนำรัฐบาลคสช.ปฏิเสธอ้างว่า 250 ส.ว.ไม่ใช่ “ต้นทุน” ในการโหวตนายกฯ หลังเลือกตั้ง แต่เป็นประชาธิปไตยตามกลไกในรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่ผ่านการทำประชามติจากคน 16 ล้านเสียงและเกือบ 14 ล้านเสียง

เหมือนจะเป็นเหตุผลฟังดูแปลกแปร่ง

บรรยากาศการทำประชามติเดือนส.ค.2559 เป็นอย่างไร ตัวเลข 16 ล้านเสียงได้มาด้วยวิธีใด ฝ่ายผู้ร่างเปิดกว้างให้ฝ่ายเห็นต่างได้แสดงออกอย่างเสรี มีการข่มขู่คุกคาม มีการใช้วาทกรรมล่อหลอกว่า ถ้าประชามติไม่ผ่าน จะไม่มีการเลือกตั้ง เป็นเช่นนั้นหรือไม่ คนในสังคมย่อมรู้ดี

หากสืบสาวกันจริงก็ต้องไปว่ากันตั้งแต่ คสช.ที่เป็นคนตั้ง กรธ.ขึ้นมาเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับพิสดาร ส่วนคนเสนอคำถามพ่วงประชามติเกี่ยวกับกลไก 250 ส.ว.ก็คือ สนช.ที่ คสช.ตั้งขึ้นเช่นเดียวกัน

ถึงตอนนี้ คสช.กำลังจะตั้ง 250 ส.ว. ขึ้นมาโหวตเลือกนายกฯ ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐลงทำศึกเลือกตั้ง

ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. ที่ได้รับมอบหมายจาก คสช.ให้เป็นประธานสรรหาส.ว. ก็เคยประกาศเจตนาชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุนหัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

การตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ

นอกจากเป็นสัญญาณต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป ยังทำให้พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งโดยตรง จนนำมาสู่ปัญหาถูกร้องเรียนต่างๆ มากมาย

ทั้งในเรื่องการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไปจนถึงคำถามที่ว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ทั้งการอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

การอยู่ในสถานะหัวหน้า คสช. ยังหมายถึงการมีมาตรา 44 อยู่ในมือ สามารถสั่งการได้ทุกอย่างทั้งนิติบัญญัติและบริหาร รวมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งเคยปรากฏให้เห็นในกรณีออกคำสั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจาก กกต.

ถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายเนติบริกรจะช่วยเคลียร์ให้ว่า หัวหน้าคสช. ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็นแค่องค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เช่นเดียวกับ กกต.ที่ตอบคำถามพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงและเดินช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงได้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในทางลบ ว่ารัฐบาลและกกต.กำลังโอนเอียงเข้าข้างพรรคที่มีหัวหน้าคสช.เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่

ในขณะที่พรรคฝ่ายตรงข้ามคสช.ถูกยื่นร้อง “ยุบพรรค” เป็นว่าเล่น

ทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์การเมืองก่อนเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง ขั้วอำนาจฝ่าย คสช. ถือว่า อยู่ในจุดได้เปรียบสูงสุด

ถ้าไม่ย่ามใจจนเกิดกระแสดีดกลับ ก็เชื่อว่าชัยชนะอยู่ใกล้แค่เอื้อม โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่สะอาดโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่ เพราะตรงนั้น

เป็นเรื่องที่สังคมรับรู้รับทราบกันดีอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน