คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ทั้งๆ ที่อยู่ในบรรยากาศแห่ง “ปรองดอง” สร้างความสามัคคีที่ริเริ่มโดย “คสช.” และ “รัฐบาล” แต่ที่ช่วงชิง “พื้นที่” ไปอย่างสิ้นเชิง

1 คือ การชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้า “ถ่านหิน”

แม้รัฐบาลจะดำเนินกลยุทธ์ “ชักฟืนออกจากเตา” ด้วยมาตรการ “เซ็ต ซีโร่” หวนกลับไปอยู่จุดเริ่มต้นใหม่

แต่ความหวาดระแวง คลางแคลงใจก็ยังตกค้างอยู่

ขณะเดียวกัน 1 เมื่อการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลยุติลงด้วยการยอมถอยของรัฐบาล ที่เข้ามาแทนคือ การประจันหน้ากันที่บริเวณวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

นับจากวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ข่าว “ธรรมกาย” ก็ยึดครอง “พาดหัว”

มิใช่พาดหัวอย่างธรรมดา หากแต่เป็นข่าวอย่างชนิดที่เรียกกันในภาษาสื่อกระดาษว่า “พาดหัวตัวไม้”

อึกทึก ครึกโครม

มองจากพื้นที่ก็ต้องยอมรับว่าข่าว “ธรรมกาย” ได้ยึดครองพื้นที่ใหญ่ของ “ข่าวสาร” ไปแล้วอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ไม่ว่าต่อ “สื่อเก่า” ไม่ว่าต่อ “สื่อใหม่”

เพราะว่าทิศทางของข่าว “ธรรมกาย” เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างตัวละคร 2 กลุ่ม 2 ฝ่ายอย่างมากด้วยสีสัน

ฝ่าย 1 เป็นอำนาจรัฐ ฝ่าย 1 เป็นวัด

ฝ่ายอำนาจรัฐลงมาเล่นกันอย่างถ้วนหน้า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมายัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

ฝ่ายวัดก็มีทั้ง “พระเณร” และ “กัลยาณมิตร”

เมื่ออำนาจตาม “มาตรา 44” ครอบให้ชาวบ้านบริเวณโดยรอบวัดพระธรรมกายต้องเข้าร่วมแสดงบทบาทด้วย

ยิ่งทำให้ “บรรยากาศ” ดำเนินไปอย่างคึกคัก

พลันที่มีการชู “มาตรา 44” ขึ้นมาเป็นเครื่องมืออย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ “ธรรมกาย” ก็ยากที่จะควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการ

แม้ “ดีเอสไอ” อยากให้ “จบ”

แม้ พระเทพญาณมหามุนี ต้องการให้รอดพ้นไปจากมือแห่งกฎหมายที่ยื่นยาวไปทุกซอกทุกมุมในพื้นที่ 2,000 กว่าไร่

แต่ความสงบสุขแบบเดิมก็กลายเป็น “อดีต” ไปเสียแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน