หนทาง ทางเลือก ของ ชวน ประชาธิปัตย์ “ผมพอแล้ว” : วิเคราะห์การเมือง

หนทาง ทางเลือก ของ ชวน ประชาธิปัตย์ “ผมพอแล้ว” – คําปฏิเสธตำแหน่งหัวหน้าพรรคจาก นายชวน หลีกภัย ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสมอีกคำรบหนึ่ง ในทางการเมือง

หลังจากตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.เมื่อปี 2512

จะแตกต่างกันก็เพียงแต่การตัดสินใจเมื่อปี 2512 เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานแห่งความหวังและความมุ่งมั่นทางการเมือง

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 จะกีดกันบทบาทของส.ส.ก็ตาม

ขณะที่การตัดสินใจไม่ยอมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นการตัดสินใจในแบบคนมีความสุกในทางความคิด ในทางปัญญา อย่างยิ่งยวด

คําปฏิเสธของ นายชวน หลีกภัย ต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรคดำเนินไปในร่องรอยเดียวกับการปฏิเสธต่อตำแหน่งนายก รัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เพราะว่า นายชวน หลีกภัย เคยเป็นหัวหน้าพรรคมาแล้ว

เพราะว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2523 และเมื่อล่วงมาถึงเดือนสิงหาคม 2531 เป็นเวลายาวนานกว่า 8 ปี

จึงได้เปล่งคำว่า “ผมพอแล้ว” ออกมา

นับแต่นั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็อยู่ในฐานะอันสูงเด่นในทางการเมือง และเชื่อกันว่านับแต่นี้เป็นต้นไป นายชวน หลีกภัย ก็จะอยู่ในฐานะอัน สูงเด่นทางการเมือง

บทสรุปไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าจะมาจาก นายชวน หลีกภัย ล้วนเป็นบทสรุปจากการตกผลึกในทางความคิด

เห็นความสมควรในการหยุด เห็นถึงความพอดี

นั่นก็เพราะเคยอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาแล้ว และเห็นว่าตำแหน่งนี้ควรอยู่ในความรับผิดชอบของคนอื่นที่เหมาะสมมากกว่า

นี่คือความสุกในทางความคิด นี่คือความสุกในทางปัญญา

กล่าวสำหรับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เท่ากับเปิดทางให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กล่าวสำหรับ นายชวน หลีกภัย ก็เท่ากับเปิดทางให้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

ไม่ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่า นายชวน หลีกภัย เมื่อก้าวเดินไปบนเส้นทางในทางการเมืองบรรลุถึงเป้าหมายหนึ่งก็มองเห็นความ จริงหรือสัจธรรม

ความเป็นจริงภายใต้กฎแห่ง “อนิจจัง”

ไม่มีใครดำรงอยู่ ณ จุดเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ทุกอย่างล้วนหนีไม่พ้นไปจากกฎแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยงแท้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน