วิเคราะห์การเมือง

กรณี “ป.ป.ช.” บรรจุเรื่องการตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเรื่องน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ให้เป็น 1 ใน 15 คดี ที่กระทำอย่างต่อเนื่องนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

กำลังดำเนินไปในแบบ “ได้ทีขี่แพะไล่”

นั่นก็คือ เมื่อได้ทีจากชัยชนะอย่างต่อเนื่องในกรณี “โครงการรับจำนำข้าว” ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเดินขึ้นศาลจนแทบไม่ต้องทำอะไรแล้ว

กรณี “น้ำท่วมใหญ่” เมื่อปี 2554 ก็ถูก “ชง” ขึ้นมา

ความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ เป็นการชงจากส่วนหนึ่งของญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์

บทบาทของ “ประชาธิปัตย์” เช่นนี้เป็นที่เข้าใจได้

แต่บทบาทเดียวกันนี้เมื่อตกมาอยู่ในมือ ป.ป.ช.อย่างชนิดเอาเป็นเอาตายก็ชวนให้สงสัยอยู่เหมือนกันว่าจะเป็นคุณหรือว่าไม่เป็นคุณกับ ป.ป.ช.กันแน่

กระทั่งกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ไปในที่สุด

ความจริงจะไปมีความเห็นต่อบทบาทและความพยายามของ ป.ป.ช.ก็อาจไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เพราะนี่เป็นการปฏิบัติไปตามหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เมื่อมีคนเสนอเรื่องมาและยังมิได้มีการพิจารณาก็ต้องดำเนินการ

เพียงแต่ว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.จะมี “วิธีวิทยา” หรือระบบและระเบียบอย่างไร นั่นก็คือ มีเหตุผลและมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

เนื่องจากมิได้เป็นเรื่องของ “รัฐบาล” ล้วนๆ หากแต่เกี่ยวเนื่องกับ “ธรรมชาติ”

เป็นเรื่องของธรรมชาติเหมือนกับในปัจจุบันรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประสบกับกรณีน้ำที่ไหลหลากมาจากภาคเหนือเข้าสู่ภาคกลางและโดยเฉพาะพื้นที่กทม.เช่นเดียวกัน แม้ไม่หนักหนาเท่ากับเมื่อปี 2554 แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำ

แล้วเหตุใด ป.ป.ช.จึงต้องเน้นแต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เล่า

ท่าทีในการรุกไล่ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

สามารถ “เข้าใจ” ได้ในทาง “การเมือง”

เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคู่ปรปักษ์ในทางการเมือง เมื่อมีโอกาสและมีช่องทางก็ย่อมจะต้องตอดนิดตอดหน่อย

นัยว่าเพื่อสร้างคะแนน สร้างความนิยม

แต่ว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งอะไรกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปด้วย หากแต่อยู่ในสถานะของ “กรรมการ” มากกว่า

ประหลาดที่ ป.ป.ช.กลับลงไป “คลุกวงใน” กระทั่งกลายเป็น “มวยหมู่”

มีความละเอียดอ่อนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีที่จะเด็ดหัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเรื่องน้ำท่วม

อาจทำให้บรรดา “กองเชียร์” ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เกิดความคึกคักและสะสาแก่ใจ แต่ในหมู่ประชาชนซึ่งเรียกว่า “ชาวบ้าน” โดยทั่วไปอาจไม่ได้คิดอย่างนั้นก็ได้

ท่าทีและอารมณ์ความรู้สึกของ “ชาวบ้าน” นี่แหละสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน