อนาคตการเมือง ของรัฐบาลเสียงข้างน้อย หวาดเสียว สยอง : วิเคราะห์การเมือง

อนาคตการเมือง – แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะเป็นนฤมิตกรรมทางการเมืองเพื่อพรรคพลังประชารัฐ เพื่อปูทางการสืบทอดอำนาจให้กับคสช.

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นศูนย์รวมแห่งความสำเร็จ

กระนั้น หากนับจากผลการเลือกตั้งที่ปรากฏ เมื่อวันที่ 24 มีนาคมเป็นต้นมา ก็ใช่ว่าความสำเร็จจะได้มาอย่างง่ายดายแบบปอกกล้วยเข้าปาก

ตรงกันข้าม กลับปรากฏอุปสรรคขวากหนามตลอด 2 รายทาง

จากวันที่ 24 มีนาคม ผ่านวันที่ 24 เมษายน ผ่าน วันที่ 24 พฤษภาคม มาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ตกเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งๆ ที่ตลอด 5 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อมั่นว่าสร้างผลงานอย่างยอดเยี่ยม ประสานกับการเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามทุกช็อตทุกเม็ด

แต่พรรคพลังประชารัฐก็ได้มาเบื้องต้นเพียง 115

ด้านหนึ่ง จึงจำเป็นต้องดึงขาพรรคฝ่ายตรงกันข้ามให้เคลื่อนไหวไม่สะดวกด้วยคดีความที่ริเริ่มโดยคสช. อย่างเอาการเอางาน ขู่และคุกคามถึงกระทั่งอาจ “ยุบพรรค”

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งจึงจำเป็นต้องใช้ “อภินิหาร” ทางกฎหมาย

ผลก็คือ การใช้สูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างพิสดารลดทอนจำนวน ส.ส.ฝ่ายตรงกันข้าม แบ่งสันปันส่วนให้เครือข่าย 11 ส.ส. 11 พรรคการเมือง

เมื่อนำเอา 11 ส.ส. จาก 11 พรรคการเมืองตามสูตรอันเป็นอภินิหารทางกฎหมายผนวกเข้ากับ 115 ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐก็ได้ 126 ส.ส. เป็นพื้นฐาน

บวกเข้ากับมืออีก 250 ส.ว.ก็เท่ากับ 376

นี่ย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะสามารถเรียกเนื้อเรียกปลาจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาห้อมล้อมโดยอัตโนมัติ

แต่แล้วก็มีเงื่อนไขจาก พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

เงื่อนไขจาก พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย นี่แหละที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐเกิดความหงุดหงิดกระทั่งจำเป็นต้องเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล “เสียงข้างน้อย”

พลันที่มีคำว่า “เสียงข้างน้อย” ไปต่อท้ายกับรัฐบาลอันมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนกลาง เสียงหัวร่อก็ดังสนั่นมาจาก 7 พรรคพันธมิตรต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

เพราะ 7 พรรคก็มีอยู่แล้ว 246 เสียง

หากได้ 53 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามา หากได้ 51 เสียงจากพรรคภูมิใจไทยเข้ามา นั่นหมายถึงปีกนี้ได้กลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไปโดยอัตโนมัติ

อนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงง่อนแง่นอย่างน่าใจหาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน