ทวงถามเก้าอี้ จากสัญญาสุภาพบุรุษ ของชาติพัฒนา : วิเคราะห์การเมือง

ทวงถามเก้าอี้ จากสัญญาสุภาพบุรุษคล้ายกับการทวงถามต่อ “สัญญาสุภาพบุรุษ” ของพรรคชาติพัฒนา กับพรรคพลังประชารัฐจะเป็นการถามตรงไปยัง นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

ไม่ใช่หรอก

แม้ว่า นายอุตตม สาวนายน จะเป็นหัวหน้าพรรค แม้ว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จะเป็นเลขาธิการพรรค

แต่ทุกคนรู้ว่าเป็นการสื่อไปยังคนที่ “เหนือ” กว่า

ยิ่งหากรับรู้ถึงภูมิหลังของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของ “เซนต์คาเบรียล คอนเน็กชั่น” ยิ่งจะสัมผัสได้

ไม่ว่าก่อนหรือหลังการร่วมขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลย่อมรู้

รู้อยู่ว่าการตกลงมี 2 ระยะที่สำคัญ

1 เป็นการตกลงอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม และ 1 เป็นการตกลงอย่างไม่เป็นทางการก่อนวันที่ 5 มิถุนายน

อย่างที่พรรคชาติพัฒนาใช้คำว่า “สัญญาสุภาพบุรุษ”

หากมิได้มีการตกลงกันพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยคงไม่ขานชื่อให้ หากมิได้มีการตกลงกัน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คงไม่ปรากฏตัวพร้อมกับอีก 4-5 พรรคการเมือง

การทวงถามต่อ “สัญญาสุภาพบุรุษ” จากพรรคชาติพัฒนาจึงดำเนินไปเหมือนกับที่พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยมีการแสดงออก

เพราะทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ “ชายชาตรี”

ทั้งยังเป็นเรื่องชายชาตรีที่สัมพันธ์กับ “ชายชาติทหาร” อย่างมีนัยสำคัญ ที่มิได้มีการลงนามเป็นสัญญา หากแต่เป็นการสื่อระหว่างปากต่อปาก

แล้วกลับกลายเป็นว่า “ตกสำรวจ”

เหมือนกับ 3 เสียงของพรรคชาติพัฒนาจะไม่มีความหมาย แต่อย่าลืมว่าที่อยู่เบื้องหลังพรรคชาติพัฒนาเป็นใคร

ในยุคที่พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยตระบัดสัตย์ ลืมคำมั่นที่เคยให้สัญญาเอาไว้อย่างหน้าเฉยตาเฉย การทวงถามของพรรคชาติพัฒนาอาจไร้ความหมาย

แต่เป้าสำคัญมิใช่ “นักการเมือง” หากเป็น “สุภาพบุรุษ”

การที่พรรคชาติพัฒนามอบหมายให้บุคคลระดับ “เลขาธิการพรรค” ออกมาทวงถาม “สัญญาสุภาพบุรุษ” จากพรรคพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่องจึงมีความหมาย

และไม่ควรมองเมินอย่างสบประมาทเป็นอันขาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน