คำมั่น การเมือง เรื่องแก้ไข รัฐธรรมนูญ นโยบาย รัฐบาล

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

คำมั่น การเมืองเหมือนกับว่าการที่ในร่างนโยบายของรัฐบาลไม่ปรากฏเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้นและเร่งด่วนจะเป็นทางออกของเสียงส่วนใหญ่

นั่นก็คือ เสียงของ 19 พรรคร่วมรัฐบาล

นั่นก็คือ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะยืนยันอย่างรุนแรงแข็งกร้าวอย่างไร เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเป็นเรื่องเร่งด่วนได้

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะขอให้กำหนดภายใน 1 ปีก็ตาม

หากมองจากหลักการประชาธิปไตย มีความจำเป็นที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องยอมรับเพราะเป็นการแพ้เสียงของเสียงส่วนใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

มองจากประสบการณ์และความจัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องนี้อาจมิได้เป็นเรื่องใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์คงสามารถตีฝ่าความเข้าใจผิดไปได้

ประเด็นมิได้อยู่ที่ความเข้าใจผิดกันเองในรัฐบาล

ตรงกันข้าม เดิมพันที่สำคัญและแหลมคมเป็นอย่างมากคือความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนอันเป็นแฟนานุแฟนของพรรคประชาธิปัตย์

เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไข ของพรรคประชาธิปัตย์

คำถามอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตนเอง หรือว่าจะโยนให้เป็นความผิดพลาดและการไม่ยอมรับฟังของพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่ว่าจะมองไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมองไปยังพรรคพลังประชารัฐอันเป็นแกนนำสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคำมั่นสัญญา

เหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ยินยอมเข้าร่วมรัฐบาลเพราะพรรคพลังประชารัฐยอมรับเงื่อนไขที่ว่า จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันเสนอมาจากพรรคประชาธิปัตย์

เท่ากับพรรคพลังประชารัฐมีสัญญาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อในที่สุดแล้วการที่ในการยกร่างนโยบายของรัฐบาลมิได้ให้ความสนใจในเรื่องของรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนใจในคำมั่นที่เคยให้สัญญา

ในกาลอดีต การให้คำมั่นสัญญาแล้วตระบัดสัตย์อาจเป็นเรื่องธรรมดายิ่งในแวดวงการเมือง นักการเมือง ไม่สนใจ ชาวบ้านก็ไม่สนใจ

แต่สำหรับการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมกลับสำคัญ

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ล้วนทวงถามคำมั่นสัญญาในห้วงก่อนการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ตรงนี้แหละที่ทำให้คำมั่นสัญญาเริ่มทรงความหมายในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน