มุมสะท้อนยุบพรรค-ย้ายสังกัด

มุมสะท้อนยุบพรรค-ย้ายสังกัด – กรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นกกต.ยุบพรรคประชาชนปฏิรูปตนเองเป็นหัวหน้าพรรค และเตรียมย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

เป็นอีกประเด็นที่กำลังถกเถียงกันว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

อีกทั้งกรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อพรรคเล็กอีกหลายพรรค จะมีผลบวกหรือลบต่อการเมืองไทย

ในมุมมองของนักวิชาการ และอดีตกกต. มีความเห็นดังนี้

พัฒนะ เรือนใจดี

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

มุมสะท้อนยุบพรรค-ย้ายสังกัด

เรื่องนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ขัดเจตนารมณ์ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่เลือกนายไพบูลย์ เพราะประชาชนไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐ

และถ้ามีส.ส.มาทำแบบนี้กันหมดโดยเฉพาะพรรค เล็กพรรคน้อยมาทำแบบนี้กันหมดคงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ในทางรัฐศาสตร์เมื่อประชาชนมอบความไว้วางใจให้คุณ แล้วคุณก็จะไปเปลี่ยนพรรคใหม่อย่างนี้ คงไม่ต่างกับส.ส.ขายตัว

ดังนั้น ถ้าจะมาคิดว่าคะแนนของนายไพบูลย์โอนได้หรือไม่ได้ ก็ชัดเจนเลยว่าไม่สามารถโอนได้ ไม่สามารถนำไปเฉลี่ยได้ ดังนั้นที่ออกมาพูดว่าต้องไปดูกันว่ากกต.จะมีวิธีคิดอย่างไรนั้น หาก กกต.คิดหรือนำมาหาร หรือมาเฉลี่ยคะแนนเมื่อไรเท่ากับทำผิดกฎหมาย เพราะเป็นคะแนนของประชาชนที่มอบให้พรรคประชาชนปฏิรูป ไม่ใช่คะแนนของพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น คะแนนเหล่านี้ต้องทิ้งถังขยะ โอนไม่ได้ ไม่ใช่หุ้นที่จะมาโอนกันได้ คะแนนดิบของพรรคพลังประชาชนปฏิรูปจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อพรรคพลังประชารัฐ คะแนนดิบของนายไพบูลย์ก็ต้องทิ้งถังขยะไป เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐก็จะได้ส.ส.เพิ่มมาหนึ่งคนที่ชื่อนายไพบูลย์ ก็แค่นั้น แต่จะเอาคะแนนมาหารแล้วให้ส่งผลกระทบต่อพรรคอื่นไม่ได้เด็ดขาด

ตามมาตรา 91 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการ เมืองเป็นเรื่องพรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคนั้น เปิดช่องแค่เรื่องส.ส.จะย้ายพรรค แต่ไม่ได้เปิดช่องให้เอาคะแนนมาโอนให้กันเหมือนหุ้น นายไพบูลย์คงยื่นด้วยเหตุผลว่าพรรคมีมติยุบ และตัวเองเป็นส.ส.อยู่จึงต้องหาพรรคสังกัดใหม่

นายไพบูลย์เสนอยุบพรรคตัวเองได้หรือไม่นั้น ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าอ้างเหตุผลอย่างไรในการยุบ อาศัยมาตราใดในกฎหมายพรรคการเมือง แล้วจึงค่อยดูว่านายไพบูลย์ต้องหาพรรคใหม่อยู่ใน วันใช่หรือไม่

ซึ่งไม่ได้โดนกกต.สั่งยุบเพราะทำผิดกฎหมาย พรรคการเมือง แต่พรรคมีมติให้ยุบเนื่องมาจากไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ หรืออาจเห็นว่าพรรคไม่ได้รับความนิยม หรือมีค่าใช้จ่ายสูง หรือเหตุผลอะไรก็สุดแต่จะอ้าง แต่จะเห็นได้ว่าเป็นความประสงค์ของพรรคนั่นเอง ไม่ได้เกิดจากกกต.ไปสั่งยุบ

กรณีของนายไพบูลย์ ถ้ากฎหมายยังเปิดช่องอยู่พรรคเล็กๆ ก็สามารถทำได้ แต่คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกมา เพราะนั่นเป็นสัญญาประชาคม ในทางรัฐศาสตร์ ในทางการเมืองว่า ผู้สมัครก็ดี หรือพรรคก็ดีจะต้องผูกพัน การทำแบบนี้คุณอาจทำได้ในตอนนี้เพราะกฎหมายเปิดช่อง แต่ต่อไปความเชื่อถือหรือเครดิตในตัวนายไพบูลย์หรือตัวพรรคจะสูญสิ้น

เหมือนกับพรรคที่สัญญากับประชาชนไว้ว่าจะ ไม่สนับสนุนใครเป็นนายกฯ แต่หลังเลือกตั้งแล้วไปสนับสนุน ในทางกฎหมายไม่มีเขียนเอาไว้ว่าคุณตระบัดสัตย์ แล้วเป็นความผิด แต่สิ่งที่คุณทำไปนั้นสะท้อนว่าพรรคไม่รับผิดชอบต่อคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบ ให้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าในการเลือกตั้งก็จะสูญพันธุ์ไป

และนายไพบูลย์ก็ต้องให้เหตุผลตอบประชาชนให้ ได้ว่าที่ไปนั้นเพราะอะไร เพราะเท่ากับดูถูกเสียงของประชาชน ทำก็ทำได้ หนเดียว แต่ต่อไปทำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าทำการเมืองเฉพาะหน้า ทำการเมืองระยะสั้น แต่คนที่เลือกนายไพบูลย์ก็มีไม่มากเพียง 30,000 ถึง 40,000 เสียงเท่านั้น

ยุทธพร อิสรชัย

อดีตรองอธิการบดี มสธ.

มุมสะท้อนยุบพรรค-ย้ายสังกัด

กรณีนายไพบูลย์ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอยุบพรรค ตัวเอง ถือเป็นการควบรวมพรรคหรือไม่ ต้องดูเจตนารมณ์ที่แท้จริงว่าต้องการควบรวมพรรคหรือไม่ เท่าที่เห็นคือยังมีความก้ำกึ่งว่าจะเป็นการควบรวมพรรค หรือจะเป็นการยุบพรรคแล้วทำให้ส.ส.มีเอกสิทธิ์ย้ายพรรคได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (10)

อย่างไรก็ดี การย้ายพรรคของนายไพบูลย์สามารถทำได้ เพราะเรื่องสถานะความเป็นส.ส.กับเรื่องที่มาของส.ส. เป็นคนละส่วนกัน เรื่องที่มาของส.ส.แน่นอนว่าการคิดคำนวณส.ส. บัญชีรายชื่อแบบปัดเศษที่เกิดขึ้นอาจมีข้อวิจารณ์ว่าได้เสียงไม่ถึงส.ส.พึง มี

แต่ในรัฐธรรมนูญระบุว่าเมื่อมีสภาพเป็น ส.ส.อย่างสมบูรณ์ เช่น ได้รับการประกาศรับรองจากกกต.แล้ว หรือเข้าทำหน้าที่ในสภา รัฐธรรมนูญไม่ได้แบ่งแยกว่าส.ส. นั้นจะต้องเป็นแบบบัญชีรายชื่อ หรือแบบแบ่งเขต ทั้งนี้ก็ต้องดูที่เจตนารมณ์ในการยื่นยุบพรรคของนายไพบูลย์อย่างถี่ถ้วนอีก ครั้ง ซึ่งนายไพบูลย์ก็อาจจะอ้างได้ว่าเกิดจากปัญหาการบริหารจัดการพรรค

คิดว่ามีแนวโน้มที่กกต.จะพิจารณายุบ เพราะปกติ กกต. ต้องทำหน้าที่พิจารณาคำร้องหากพรรคแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถดำเนินกิจการต่อ ได้ กกต.ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ ยุบพรรคได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร

การย้ายพรรคหากเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 และใน (9) กรณีส.ส.ถูกขับออกจากพรรค จะให้ระยะเวลา 30 วัน แต่มาตรา 100 (10) จะมีเงื่อนเวลาให้ 60 วัน คือกรณีพรรคถูกยุบ ซึ่งกรณีของนายไพบูลย์จะเข้ามาตรา 100 (10) เพราะสถานะและที่มาของส.ส. ถูกคิดแยกออกจากกัน

จากนี้เชื่อว่าอีกหลายๆ พรรค ที่เป็นพรรคจิ๋วมีโอกาสทำตามแนวทางของนายไพบูลย์ เพื่อทำให้พรรคพลังประชารัฐมีเอกภาพมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีปัญหาภายใน และมีปัญหาจากเสียงปริ่มน้ำ เมื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มานั่งตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือการเสริมฐานให้พรรคพลังประชารัฐ อาจจะมีการสลายพรรคจิ๋วที่เหลืออยู่ เพื่อให้เหลือพรรคร่วมรัฐบาลเพียง 9 พรรค

หากเป็นเช่นนี้รัฐบาลก็สามารถเดินหน้าต่อ ไปได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะสลายพรรคจิ๋วรวมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าบรรดาพรรคจิ๋วจะตัดสินใจมาหรือไม่ เพราะการเป็นพรรคจิ๋วมีสถานะอำนาจการต่อรองสูงกว่าการย้ายไปอยู่กับพรรคพลัง ประชารัฐ

เรื่องคะแนน กรณีของนายไพบูลย์เกิดขึ้นจากการย้ายพรรค คือหากพิจารณาในเชิงกฎหมายโดยไม่ใส่ความคิดเห็นต่างๆ เข้าไป คิดว่าไม่ต้องมีการคำนวณใหม่ เพราะเป็นการใช้เอกสิทธิ์ของส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 การที่นายไพบูลย์ย้ายมาก็ไม่ถูกนับเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ก็ไม่ได้เป็นส.ส.แบบแบ่งเขตของพรรคพลังประชารัฐ ฟังดูก็จะรู้สึกแปลกๆ แต่มีสถานะความเป็นส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องมีการขยับลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อในช่วง 1 ปีแรกตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้

ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับนี้มีตรรกะผิดเพี้ยน และพิสดาร ทำให้เกิดช่องว่างและเกิดปัญหามากมาย รัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาใหญ่ ที่ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น โครงสร้างระบบรัฐสภาบิดเบี้ยว หรือการมีส.ว.ร่วมโหวตกับส.ส. ทำให้เกิดภาวะเสียง ปริ่มน้ำ ขณะที่เวลาทำงานจริงในสภา ส.ว.มาร่วมโหวตไม่ได้ และในหลายมิติรัฐบาลก็ขาดเสถียรภาพ

อีกทั้งระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่มีการคิดคำนวณให้เกิด ‘ปาร์ตี้ลิสต์พิสดาร’ หรือกรณีการย้ายพรรคของนายไพบูลย์ ที่ไม่ต้องมาคำนวณคะแนนใหม่

กรณีของนายไพบูลย์ยังไม่เคยเกิดเรื่องแบบ นี้ขึ้นในประเทศไทยเลย ในต่างประเทศก็ไม่เคยเห็น เพราะไทยเราไม่เคยใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมจึงไม่มีการนั่งคิดทบทวนบัญชีราย ชื่อ ทั้งหมดก็เกิดมาจากการวางระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2560

และในหลายๆ ประเทศที่เคยใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมก็ไม่ใช้บัตรใบเดียวแบบของไทย แต่ใช้บัตร 2 ใบ จึงนับคะแนนแยกส่วนกันระหว่างบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต ไม่มีการคำนวณคะแนนมาเข้าสูตรเหมือนที่เราทำ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศไม่เกิดปัญหาแบบนี้

หากถามว่าแนวโน้มการลาออกของส.ส.เขต 5 นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ มีผลต่อการยื่นยุบพรรคของนายไพบูลย์หรือไม่ ก็คิดว่ามีส่วนเป็นไปได้ เพราะหากส.ส.คนนี้ลาออกจริงก็มีสิทธิ์ที่นายไพบูลย์จะเสียคะแนน เนื่องจากส.ส.ที่จะลาออกเป็นส.ส.แบบแบ่งเขต คือต้องจัดเลือกตั้งซ่อม จะเหมือนกรณีที่จ.เชียงใหม่ จนเกิดการขยับของบัญชีรายชื่อ พรรคที่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยที่สุดก็ต้องกลัวแล้วว่าจะเสียตำแหน่งหรือ ไม่ นี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายไพบูลย์ยื่นยุบพรรคตัวเอง

ส่วนอีกสาเหตุสำคัญคือการที่พรรคพลังประชา รัฐปรับยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการที่พล.อ.ประวิตรเข้ามานั่งตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ เพราะพรรคพลังประชารัฐกำลังเดินหน้าสร้างความเป็นเอกภาพ และการสลายภาวะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล

เท่าที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร มักออกมากำชับให้ส.ส.เลือกหมวกให้ชัดเจนว่าตัวเองจะสวมหมวกส.ส. หรือรัฐมนตรี เพื่อทำให้การเข้าประชุมสภามีจำนวนส.ส.เพิ่มมากขึ้น ไม่ให้มีการทำงานแบบ 2 ขา หลังจากนั้นจึงเห็นกรณีของนายไพบูลย์เกิดขึ้น สะท้อนภาพให้เห็นว่าการเข้ามาของพล.อ.ประวิตร คือสาเหตุหนึ่งให้นายไพบูลย์ย้ายพรรคด้วย

ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการ กกต.

มุมสะท้อนยุบพรรค-ย้ายสังกัด

นอกจากกก.บห.ไล่ออก หรือพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบ สมาชิกพรรคสามารถย้ายไปอยู่พรรคอื่นได้ภายใน 30 วันตามกฎหมายเดิม แต่กฎหมายใหม่ให้ 60 วัน เมื่อพรรคถูกยุบ กก.บห.และหัวหน้าพรรคมีสิทธิ์ไปหาพรรคอื่นอยู่ได้

กรณีนายไพบูลย์ เป็นส.ส.บัญชี รายชื่อ แม้ได้คะแนนประมาณ 4.5 หมื่นคะแนนแต่ความเป็นส.ส.จะติดตัวไป จนกว่าครม.จะลาออก หรือยุบสภา หรือเรียกได้ว่านายไพบูลย์สามารถอยู่จนครบ 4 ปี

ดังนั้น แม้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ที่มีคะแนนบัญชีรายชื่อเฉลี่ยต่อคน 7 หมื่นกว่าคะแนน และมีสำรองอีกจำนวนมาก นายไพบูลย์ก็มีสิทธิ์เป็นส.ส.ถ้าพลังประชารัฐ รับเข้าเป็นสมาชิกพรรคโดยไม่ต้องพิจารณาคะแนนกันใหม่ หากพลังประชารัฐจะเลื่อนบัญชีรายชื่อขึ้นมาก็ไม่เกี่ยวกับนายไพบูลย์ เพราะถือว่าเป็นส.ส.ติดตัวมาจากพรรคเดิม ซึ่งไม่ต้องไปต่อคิวใคร

ส่วนการเสนอยุบพรรคตัวเองของนายไพบูลย์ ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ยุบพรรคเองได้ กรณีไม่พร้อมในเรื่องการบริหาร การเงิน การคลัง ซึ่งก็อยู่ที่ กกต.จะเป็นผู้วินิจฉัย หากยุบพรรคได้ก็ไปหาพรรคใหม่อยู่ ภายใน 60 วัน ถ้าหากพรรคอยู่ไม่ได้ก็ถือว่าสิ้นสภาพ แต่นายไพบูลย์ก็ประกาศแล้วว่าจะไปอยู่กับพลังประชารัฐ และการไปอยู่พรรคใหญ่ก็ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร

หากกรณีนายไพบูลย์ทำสำเร็จ ถือว่ากฎหมายเปิดช่องให้ พลังประชารัฐอาจไปกว้านพรรคเล็กๆ เข้ามาอยู่ในพรรค เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลนั้น ส่วนตัวเห็นว่าอยู่ที่ว่าพลังประชารัฐ จะให้ค่าหัวเท่าไร การยุบพรรคตัวเองก็จะหมดไป เพราะการให้ตำแหน่งทางการเมืองกับ 9 พรรคเล็กก็เป็นการซื้ออยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่พรรคใหญ่ การจะซื้อใต้ดินหรือบนดินก็ไม่มีปัญหา แต่พรรคเล็กๆ ก็ต้องดูว่าไปรวมแล้วจะได้อะไร

ถ้ากกต.คิดเหมือนอย่างตนก็วินิจฉัยว่าพรรค ที่ขอยุบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าชอบก็ยุบพรรค ซึ่งพรรคมีสิทธิ์ทำตามกฎหมาย เพราะเปิดช่องอย่างนี้เขาก็สามารถเป็นส.ส.จนกว่าจะหมดวาระ และกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อประกาศรับรองให้เขาเป็นส.ส.แล้วและได้ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน