เป็นอันว่ารองประธานสนช.อย่าง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และรวมถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คาดหมายแนวโน้มและกระบวนการเลือกตั้งได้ใกล้เคียง

ใกล้เคียงตรงที่ไม่มีการเลือกตั้งในปี 2560 แน่นอน

ถูกต้องตรงที่ตลอดทั้งปี 2560 แม้จะไม่มีการเลือกตั้งแต่ก็เท่ากับเป็นขั้นแห่งการตระเตรียมเพื่อก้าวไปสู่การเลือกตั้งในปี 2561

ที่คาดว่าน่าจะเป็นภายในไตรมาส 1 ของปี ก็ไม่ใช่

ฟังจาก นายวิษณุ เครืองาม ประสานเข้ากับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ บรรดาเกจิทางการเมืองเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นเดือนสิงหาคม 2561

อาจจะเร็ว แต่ก็ไม่น่าจะเกินไปไกลจนถึงเดือนธันวาคม

ที่ต้องเลือกตั้งในปี 2561 ด้วยปัจจัยอะไรบ้างแทบไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายยาวเหยียดเพราะทุกฝ่ายล้วนยอมรับกัน

ปี 2561 จึงเป็นปีแห่ง “การเลือกตั้ง”

ความต้องการที่จะเกิดการปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองและนักการเมืองด้วยความรวดเร็วเห็นชัดว่าจำเป็นต้องรอไปก่อน

รอจนกว่ากฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายกกต.เสร็จ

หากดูตามกำหนดเวลานับจากวันที่ 18 เมษายน ก็น่าจะผ่านวันที่ 18 พฤษภาคม และผ่านวันที่ 18 มิถุนายน

เป็นไปได้ว่าจะ “ยื้อ” ได้ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2560

เพราะเมื่อกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายกกต.ประกาศและบังคับใช้ย่อมมีความจำเป็นที่พรรคการเมืองจะต้องขยับและปรับตัว

การขยับและปรับตัวของพรรคการเมืองจึงสำคัญ

นับจากเดือนมิถุนายน 2560 สภาพการณ์ในทางการเมืองจะเริ่มเข้าสู่ปกติมากยิ่งขึ้น พรรคการเมืองจะมีบทบาท ขณะเดียวกัน นักการเมืองก็จะมีบทบาทตามมา

นั่นเท่ากับว่า “ศูนย์กลาง” มิได้อยู่ที่ “คสช.” แห่งเดียว

ตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทยจะเคลื่อนไหวอย่างไรย่อมได้รับความสนใจ พรรคประชาธิปัตย์จะเคลื่อนไหวอย่างไรย่อมได้รับความสนใจ

ยิ่งพรรคภูมิใจไทย ยิ่งถูกแสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับ

บรรดานักการเมืองที่เคยนิ่งเงียบตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จำเป็นต้องแสดงตัวว่าจะเอาอย่างไร จะร่วมกับพรรคเดิมหรือว่าจะแยกตัวไปอยู่พรรคใหม่

ทิศทางการเมือง ทิศทาง “การเลือกตั้ง” จะค่อยแจ่มชัด

ถามว่าท่ามกลางการขยับ ขับเคลื่อนของพรรคการเมืองเช่นนี้ทางด้าน “คสช.” จะเป็นอย่างไร

การขยับของ “คสช.” ยังทรงความหมาย เพียงแค่จะผ่อนปรนหรือไม่ผ่อนปรนในทางการเมืองสังคมก็ย่อมจะจับตามองและมีความเห็นแล้ว

คำถามก็คือ จะวางมือหรือว่า “สืบทอด” อำนาจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน