งัด ประชุมลับ สกัด ปิยบุตร แสงกนกกุล อภิปราย 1 ชั่วโมง

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ทันทีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 นาทีในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ในวันที่ 18 กันยายน

อาการวูบไหวในทางการเมืองก็บังเกิด

เป็นความวูบไหวเพราะตระหนักรู้กันเป็นอย่างดีว่า กระบวนการอภิปรายของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นอย่างไรในทางการเมือง

“เนื้อ” ล้วนๆ แทบไม่มี “น้ำ” เจือปนเลย

ไม่ว่าจะตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของกกต.ก็เห็นมาแล้ว

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าหลายคนในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าหน้าเก่าไม่ว่าหน้าใหม่ ล้วนสัมผัสอย่างเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

ต่อบทบาทในรัฐสภาของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

เห็นได้จากที่การตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

แค่ตั้งข้อสังเกต ฤทธานุภาพยังมหาศาล

จากเดือนกรกฎาคม ผ่านเดือนสิงหาคม กระทั่งมาถึงเดือนกันยายน ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมรู้ดีที่สุด

สถานการณ์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล เพียงตั้งข้อสังเกต ท้วงติงนิ่มๆ และถูกสกัดขัดขวางโดย นายวีระกร คำประกอบ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ยังไม่ได้ยกข้อกฎหมายอะไรด้วยซ้ำ

แต่นี่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ตระเตรียมเนื้อหา การอภิปรายเอาไว้ยาวเหยียดถึง 60 นาทีหรือประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมรู้ดีว่าจะ “น่วม” ระดับไหน

เพราะ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่เพียงแต่เป็นดุษฎีบัณฑิตในสาขากฎหมายมหาชน หากยังเป็นอาจารย์ ผู้บรรยาย หากยังเป็นหนอนหนังสือและเชี่ยวชาญกฎหมายและการเมืองอย่างรอบด้าน

มีความเป็นไปได้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะต้องงดเอามาตรการ “ประชุมลับ” มาเป็นเครื่องมือตั้งแต่เริ่มวินาทีแรกของการประชุมอย่างแน่นอน

ไม่มีหนทางอื่นให้ต้องเลือก

เพราะมีแต่มาตรการ “ประชุมลับ” เท่านั้นจึงจะหดให้บทบาทและความหมายของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในวงกว้างน้อยลงหรือแทบไม่มีเลย

จึงพึงจับตาบทบาทของ “องครักษ์” พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้จงดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน