คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะยังรักษาอำนาจตาม “มาตรา 44” เอาไว้ให้กับคสช.และรัฐบาลเพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน

แต่ก็มี “เสียงเตือน” ด้วยความห่วงใย ปรากฏขึ้น

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ปรากฏขึ้นจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และปรากฏขึ้นจาก นายวิษณุ เครืองาม 2 นักกฎหมายคนสำคัญ

คนหลังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และกำกับงานด้าน “กฎหมาย”

คนแรกไม่ได้มีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาล แต่เมื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประสบปัญหา ก็ได้รับมอบหมายจากคสช.ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ผลงานที่เห็นก็คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และรวมถึงยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

“เสียงเตือน” จึงทรง “ความหมาย”

ขณะเดียวกัน หากสำรวจผลงานอันเนื่องแต่ “มาตรา 44” ซึ่งเริ่มห่างๆ ในปีแรกหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และถี่ยิบเป็นพิเศษในห้วงปีที่ 3

ระยะหลังคำสั่งตาม “มาตรา 44” เริ่มประสบ “ปัญหา”

หากย้อนไปพิจารณาคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 5/2560 ในเรื่องอันเกี่ยวกับ “วัดพระธรรมกาย” ก็จะสัมผัสได้ในความไม่สัมฤทธิ์

นับแต่วันที่ 10 มีนาคม เป็นต้นมาก็ต้อง “ผ่อน”

ยิ่งหากพิจารณาผลจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 14/2560 ว่าด้วยมาตรการรัดเข็มขัดในวาระแห่งเทศกาลสงกรานต์ยิ่งมากด้วยความแหลมคม

ประกาศออกมาแล้วก็ถูก “ต่อต้าน” อย่างรุนแรง

บทสรุปที่ตรงกัน ไม่ว่าจะจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 5/2560 ไม่ว่าจะจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 14/2560 คือ เป็นคำสั่งที่สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

คำสั่งฉบับที่ 5/2560 ทำให้มีคนตาย 2 ศพ

คำสั่งฉบับที่ 14/2560 อึกทึกด้วยกระแสคัดค้านและต่อต้านมิได้มีเพียงกรอบแคบๆ หากปรากฏขึ้นในลักษณะทั่วประเทศ

นำไปสู่การต้องทบทวน “รายละเอียด” ของ “คำสั่ง”

ทำให้สายตาที่มองไปยัง 1 คสช. 1 รัฐบาล เป็นสายตาอันมากด้วยความคลางแคลงและกังขาว่าเข้าใจต่อปัญหาอย่างเป็นจริงหรือไม่

ในที่สุดแล้วก็คือ ความสงสัยต่อ “มาตรา 44”

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ นับแต่วันที่ 6 เมษายนเป็นต้นไป บทบาทของ “มาตรา 44” จะเป็นอย่างไร

ความรู้สึก “ร่วม” อย่างสำคัญก็คือ การประกาศและบังคับใช้เท่ากับเป็นการเบิกสถานการณ์ใหม่ในทางการเมือง เป็นสถานการณ์ที่ค่อยๆ ก้าวไปสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย”

ขณะที่ “มาตรา 44” มีลักษณะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน