บทเรียน การเมือง จาตุรนต์ ไทยรักษาชาติ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทเรียน การเมือง จาตุรนต์ ไทยรักษาชาติ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – การแยกตัวจากพรรคเพื่อไทยแล้วไปจัดตั้ง “กลุ่ม” เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือ ยุทธวิธีหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง

อาจก่อให้เกิดความหงุดหงิดภายใน “ติ่ง” พรรคเพื่อไทย บ้าง

แต่หากย้อนกลับไปศึกษาปรากฏการณ์ตอนที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย ไปจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม

ก็จะเข้าใจ

เข้าใจเมื่อ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ก็ทำอย่างนั้น เข้าใจเมื่อ นายสุธรรม แสงประทุม ก็ทำอย่างนั้น เข้าใจเมื่อ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ก็ทำอย่างนั้น

ต่อกรณีของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุธรรม แสงประทุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เมื่อแยกตัวออกไปเป็นกำลังสำคัญของพรรคไทยรักษาชาติ

ภายในพรรคเพื่อไทยไม่ได้หงุดหงิด ไม่พอใจ

ไม่ว่าจะเป็นท่าทีจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะเป็นท่าทีจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย แสดงความเข้าใจ

ถือได้ว่าเป็นการจากกันอย่างมิตร

กรณีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่าจะมาจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย ไม่ว่าจะมาจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี มากด้วยความอบอุ่น มากด้วยความเข้าใจ

แม้ว่าครั้งหนึ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเคยเป็นรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

นั่นเป็นสถานการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2562

แต่นี่เป็นสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2562 และเป้าหมายที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต้องการไปช่วงชิงมิใช่นายกรัฐมนตรี

หากแต่เป็น ผู้ว่าฯ กทม.

การเสนอตัวเองเป็น “กลุ่มอิสระ” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เหมือนกับที่เคยมีพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ เกิดขึ้นให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

หากบรรดา “ติ่ง” พรรคเพื่อไทยมีความสุกงอมกับการที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แยกตัวไปร่วมพรรคไทยรักษาชาติกับ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช

เหตุใดจะหงุดหงิดกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เพราะทั้งหมดนี้เสมอเป็นเพียง “กลยุทธ์” ที่จำเป็นต้องยืดหยุ่นและพลิกแพลงไปตามความเหมาะสมของแต่ละสภาพของสถานการณ์

บางทีการสมัคร “อิสระ” อาจเหมาะสมมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน