คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อย่าได้แปลกใจหากจะมีการคาดหมายว่า “แคนดิเดต” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ในฐานะอันเป็น “ตัวเลือก” ใหม่

เมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหมดโอกาส เมื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หมดโอกาส เมื่อแวดวงการเมืองต้องการคนหน้าใหม่

ที่ไม่ใช่นายทหารที่มีส่วนพัวพันกับ “รัฐประหาร”

แวดวงในทางการเมืองจึงค่อนข้างสรุปตรงกันว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล อาจเป็นอีกตัวเลือก 1 ซึ่งฝ่ายของพรรคการเมืองก็ไม่ขัดข้อง

ขณะเดียวกัน ฝ่ายของทหารก็ “แฮปปี้”

มองในด้านดีพรรคภูมิใจไทยถือว่าเป็นพรรคที่ยืนอยู่ระหว่าง “กลาง” ไม่ว่าจะมองจากพรรคการเมืองด้วยกัน ไม่ว่าจะมองจากกลุ่มอำนาจทหาร

แม้จะแนบแน่นกับ “คสช.” แต่ก็เป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง

เป็นพรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่เคยร่วมหอลงโรงอยู่กับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยังเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย

ขณะเดียวกัน ก็มีสัมพันธ์อันดีอยู่กับบิ๊กทหาร

ท่วงทำนองในแบบกลางๆ อาจเป็นคุณลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพการณ์พิเศษทางการเมืองที่ต้องการการปรองดอง สมานฉันท์

ปรองดองสมานฉันท์เพื่อ “เริ่มต้น” ใหม่

ปมเงื่อนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพรรคภูมิใจไทยก็คือ เมื่อเสนอตัวเข้ามาแล้วประชาชนทั่วประเทศจะมีความเห็นอย่างไร

ตรงนี้แหละคือ ผลดีอันเป็นจุดแข็งของ “การเลือกตั้ง”

อำนาจและอิทธิพลจากปากกระบอกปืนไม่สามารถบงการ “การเลือกตั้ง” ได้ ตัวอย่างก็เห็นได้แล้วจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

พรรคพลังประชาชนชนะเพราะประชาชนเทคะแนนให้

พรรคเพื่อไทยชนะและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งๆ ที่หาเสียงเพียง 40 กว่าวัน ก็เพราะประชาชนเขามอบความไว้วางใจให้

คำถามก็คือ พรรคภูมิใจไทย ทำได้หรือไม่

คนที่จะตอบคำถามนี้เป็นพรรคภูมิใจไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค

เพราะว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” ก็เท่ากับเป็นการอาสาและทอดตัว ขณะเดียวกัน การอาสาและทอดตัว ประชาชนจะนิยมชมชื่นหรือไม่

ปลายปี 2561 คงมีคำตอบอย่างเป็นรูปธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน