คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อย่าว่าแต่ “หมุดคณะราษฎร” เลย แม้กระทั่ง สายไฟฟ้า หรือ ฝาท่อ หากสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยก็ควรให้ความสนใจ ติดตาม

เพราะว่าล้วนเป็น “ทรัพย์แผ่นดิน”

บทสรุปจากปาก ร.ต.อ.มอ ระนา รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ดุสิต ที่รับแจ้งความร้องทุกข์จาก นายพริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ ตลอดจนนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย

จึงควรให้ความสนใจ

“สำหรับทรัพย์สิน “หมุดคณะราษฎร” ที่หายไปนั้นเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เป็นผู้ใดก็ได้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษ”

ทำไม “หมุดคณะราษฎร” จึงเป็น “ทรัพย์สินแผ่นดิน” ทำไม “หมุดคณะราษฎร” จึงเป็น “ทรัพย์สินของทางราชการ”

เรื่องนี้จำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจ

หากย้อนกลับไปดูรากฐานที่มาแห่ง “หมุดคณะราษฎร” ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของ นายพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

นายกรัฐมนตรี บัญชาไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ให้จัดทำ “หมุดคณะราษฎร” ขึ้นเพื่อประกาศเหตุการณ์ ณ ย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นการก่อกำเนิดแห่ง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475”

กระทรวงมหาดไทยจัดทำสำเร็จเสร็จสิ้นลงวางหมุดเมื่อเดือนธันวาคม 2479

จึงเด่นชัดยิ่งว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย จึงเด่นชัดยิ่งว่ามาจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน

นี่จึงเป็นสมบัติของราชการ นี่จึงเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน

ลักษณะย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งก็คือ บริเวณที่แวดล้อมโดยรอบ “หมุดคณะราษฎร” คือ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล

และอยู่ไม่ไกลจาก “ทำเนียบรัฐบาล” เท่าใดนัก

เหตุใดกองทัพภาคที่ 1 จึงไม่รู้ เหตุใดกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงไม่รู้ ขณะเดียวกัน เขตดุสิตอันเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ไม่รู้ ตลอดจนแม้กระทั่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทำงานสัมพันธ์ของทรัพย์ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ไม่รู้

ในที่สุด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นปากของ “รัฐบาล” ก็ออกมายืนยันในความไม่รู้และไม่ขอออกความเห็น

นี่จึงเป็นเรื่องอย่างแสนประหลาดอย่างยิ่ง

มีคำกล่าวมานานแล้วว่า ทรัพย์ของราชการ ทรัพย์ของแผ่นดิน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

คำถามที่ดังจากทั่วสารทิศเรื่อง “หมุดคณะราษฎร” จึงมิได้ให้ความหมายในด้านอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ทรัพย์สินของทางราชการอย่างด้านเดียว

ที่สำคัญยังเป็น “มรดก” สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน