บทบาท เป็นจริง ของสื่อ พลังประชารัฐ กับสื่อ “ธนาธร”

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ทั้งๆ ที่สื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เลิกกิจการไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 แต่ในความเห็นของกกต.ฤทธิ์เดชยังมีอยู่

จึงได้ดำเนินการสอบสวนและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

อันส่งผลในเบื้องต้นให้เกิดคำสั่งยุติบทบาทของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา

แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีสื่อ “พลังประชารัฐ” ตำหูตำตา

คนของพรรคภูมิใจไทยรับรู้ผลสะเทือนจากสื่อ “พลังประชารัฐ” อย่างเต็มพิกัด ไม่ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีแต่เพียงกกต.เท่านั้นที่ไม่รู้

จุดต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสื่อของ “พลังประชารัฐ” กับ สื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คือการดำรงอยู่ คือการสำแดงพลานุภาพ

สื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่มีอยู่

เป็นการไม่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี กิจการได้เลิกไปแล้ว ทั้งกิจการสื่อ กิจการบริษัท

แต่กกต.ก็ยังเห็นว่ามีอยู่และต้องเอาเรื่อง

การเอาเรื่องของกกต.ต่อสื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงดำเนินไปในลักษณาการอย่างที่ เดล คาร์เนกี สรุปออกมาอย่างรวบรัดว่าเป็นปฏิบัติการในแบบ “เลื่อยขี้เลื่อย”

เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทยโดยมีจุดเริ่มจากกระทรวงคมนาคมสังคมจึงได้รับรู้ถึงบทบาทของสื่อของ “พลังประชารัฐ”

ทั้งที่เป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และออนไลน์

ความหงุดหงิดภายในพรรคภูมิใจไทยจึงนำไปสู่ การตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงกรณี “นักการเมืองแทรกแซงสื่อ หรือ สื่อแทรกแซงนักการเมือง”

และนำไปสู่การฟ้องร้อง “สื่อ”

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างการดำรงอยู่ของสื่อของ “พลังประชารัฐ” กับการไม่ดำรงอยู่ของสื่อที่คิดว่าเป็นของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

จากพื้นฐานความเป็นจริงเช่นนี้เองทำให้สถานการณ์การอ่านคำวินิจฉัยตัดสินกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ได้รับความสนใจ

ไม่ว่าผลจะออกมาลบ ไม่ว่าผลจะออกมาบวก

ความสนใจนั้นพุ่งตรงไปยังบทบาทและความรับผิดชอบ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นต้นเรื่องของกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยอัตโนมัติ

นำไปสู่ผลของ # อยู่ไม่เป็น โดยพลัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน