สงคราม สั่งสอน สั่งสอน ต่อ ประชาธิปัตย์ จาก พลังประชารัฐ

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ปฏิบัติการดึงเอา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ปฏิบัติการดึงเอา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเป็น “บทเรียน” อันทรงความหมายยิ่ง

ทั้งหมดล้วนอยู่ใน “พิมพ์เขียว” ทางการเมือง

เพียงแต่เมื่อดึงเอา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ออกมาแล้วเป้าหมายอยู่ที่การจัดเอาไว้ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เล่นบทต้าน “ลัทธิชังชาติ”

ขณะที่สถานีแรกของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สถานีต่อไปคือประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญรับมือกับกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บทเรียนทางการเมืองอย่างสำคัญก็คือ ยุทธศาสตร์ของ คสช. ยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ มิได้อยู่ที่ฝ่ายค้านอันได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

หากหมายรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

ความจริงเจตจำนงเช่นนี้ก็มีตัวอย่างมาแล้ว ดังในกรณีของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ดังในกรณีของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์สอบตกใน กทม.

เมื่อได้จังหวะเหมาะก็ดึงเอา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ให้ไปอยู่กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อได้จังหวะเหมาะก็ดึงเอา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกมานั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาล

การดูดและการดึงเอา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ตลอดจน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงเป็นสัญญาณเตือน

หากบ่งชี้ถึงแนวโน้มของสงคราม “สั่งสอน”

สั่งสอนเหมือนที่ปล่อยข่าวในเรื่องการปรับ ครม.โดยตัดขาดพรรคประชาธิปัตย์ออกไป สั่งสอนมิให้มีการขยายบทบาทของอดีตหัวหน้าพรรคบางคนมากนัก

เพราะทิศทางของอดีตหัวหน้าพรรคมีผลคุกคามต่อ คสช.

ความน่าสนใจก็คือ เมื่อประสบกับ “สงครามสั่งสอน” จาก คสช. จากพรรคพลังประชารัฐร่วมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยเช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร

ก็ต้องยอมรับอีกเหมือนกันว่า พรรคประชาธิปัตย์มิได้ละอ่อนทางการเมือง ตรงกันข้าม สะสมความจัดเจนติดเขี้ยวเล็บทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

เพียงขยับก็ “กระสา” กลิ่น

ไม่ว่า นายชวน หลีกภัย ไม่ว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ไม่ว่า นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ต้องเปี่ยมด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ทั้งหมดสะท้อน “ร่วมมือ” และ “ต่อสู้” อันดำรงอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน