เบื้องหลัง ฉายา เบื้องหลัง ของ “ผู้สื่อข่าว” ศักดิ์ศรี วิชาชีพ

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เบื้องหลัง ฉายา – ความหงุดหงิดต่อฉายารัฐบาลอันมาจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าที่สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ไม่ว่าที่ทำเนียบรัฐบาลสามารถเข้าใจได้

เมื่อประสบเข้าบรรดา “นักข่าว” ก็ต้องถอยฉาก

สังเกตหรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกจังหวะในการสำแดงออกโดยมี “เป้าหมาย” เพื่อหาพันธมิตรในแนวร่วมอย่างเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะจาก “ตำรวจ” ไม่ว่าจะจาก “รัฐวิสาหกิจ”

อย่างน้อยตำรวจก็เป็นข้าราชการ อย่างน้อยรัฐ วิสาหกิจก็แนบแน่นอย่างยิ่งกับระบบราชการ เท่ากับเป็นการย้อนกลับไปสู่สถานะก่อนมาเป็นนักรัฐประหาร มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้อยู่เหนือความคาดหมาย เช่นนี้เองบรรดานักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจึงสงวนท่าทีมาตลอด 5 ปีเต็ม

ต่อเมื่อผ่าน “การเลือกตั้ง” จึงได้ปรากฏ

เรื่องนี้จินตนาการได้ไม่ยาก หากว่าการจัดตั้ง “ฉายา” เริ่มตั้งแต่ปีแรกหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็คงดูไม่จืด

การทุ่ม “โพเดียม” อาจปรากฏเป็นจริง

ทุกอย่างก็เป็นดังที่บางคนจากพรรคประชาธิปัตย์สรุป นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่คุ้นชินกับบทบาทใหม่ นั่นก็คือ บทบาทของ “นักการเมือง”

การตั้งฉายารัฐบาลเช่นนี้เป็นเรื่องปกติและธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาล นายชวน หลีกภัย ไม่ว่ารัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

แต่สำหรับรัฐบาลมาจาก “รัฐประหาร” เป็นเรื่องแปลก

เพราะรัฐบาลที่มาจาก “รัฐประหาร” ด้านหลักย่อมเป็นทหาร ด้านรองย่อมเป็นอดีตข้าราชการ คนเหล่านี้ไม่คุ้นกับบรรยากาศอันเป็น “ประชาธิปไตย”

ไม่ชอบการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ชอบการเสียดสี เหน็บแนม

รัฐมนตรีที่เคยเป็นข้าราชการประจำจึงชมชอบกับการเห็นคนอื่นพินอบพิเทา จะเสนอรายงานก็ยืนกุม เป้ากางเกง ยิ่งชิดเท้าแสดงความเคารพยิ่งชมชอบเป็นอย่างสูง

การที่บรรดานักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลสวมหัวใจสิงห์รวมหัวกันเสนอ “ฉายา” ให้กับรัฐบาลจึงเท่ากับเป็นการเสพดีหมี หัวใจมังกรมา

เป้าหมายคือสร้างความเป็นปกติทางการเมือง

ไม่เพียงแต่จะเป็นปกติทางการเมืองให้เป็นของขวัญวันส่งท้ายปีเก่ากับรัฐบาล กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากที่สำคัญยังดำรงศักดิ์ศรีของ “นักข่าว” ของ ตนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน