คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มติของที่ประชุมสปท.รับร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อด้วยคะแนนเสียง 141 ต่อ 13 ขณะที่งดออกเสียง 17

เหมือนกับเป็นชัยชนะอันงดงามยิ่งอีกครั้งหนึ่ง

แต่ “ชัยชนะ” นี้ก็จะกลายเป็น “ภาระ”

เนื่องจากเป็นชัยชนะซึ่งมิได้ดำเนินไปอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เพราะเสมอเป็นเพียงบาทก้าวที่ 1 และยังเหลืออีก 2 บาทก้าวที่จะต้องผ่าน

1 เป็นการพิจารณาของครม. และ 1 เป็นการพิจารณาของสนช.

หากมองจาก 141 คะแนนจากที่ประชุมสปท. ก็ไม่ยากที่จะคาดหมายว่าการผ่านจากครม.คงไม่ยาก การผ่านสนช.ก็แทบไม่แตกต่างไปจากของสปท.

เพราะล้วนอยู่ใน “แม่น้ำ 5 สาย” ด้วยกัน

แต่อย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า “แม่น้ำ 5 สาย” จะต้องเผชิญกับอะไรในทางสังคมและในทางการเมืองนับแต่

บัดนี้เป็นต้นไป

หากประเมินผ่านองค์กรของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ก็คงจะสัมผัสได้ในความไม่พอใจ

ยิ่งหากจับปฏิกิริยาล่าสุดก่อนการประชุมใหญ่สปท.ในวันที่ 1 พฤษภาคม จากที่ นายสุทธิชัย หยุ่น แสดงออก จากที่ นายมานิจ สุขสมจิตร ออกโรง

2 คนนี้มีสถานะไม่ธรรมดาอย่างแน่นอนในแวดวง “สื่อ”

นายสุทธิชัย หยุ่น เป็นตัวแทนของแนวคิดเสรีนิยมในแวดวงสื่อ ตั้งแต่ยุค “อะนาล็อก” กระทั่งมาเป็น ยุค “ดิจิตอล” ขณะที่ นายมานิจ สุขสมจิตร อาจสมาทานกับรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การแยกตัวออกมา “ข้างนอก” ของ นายมานิจ สุขสมจิตร จึงสำคัญ

มีความเด่นชัดยิ่งว่า มติ 141 ที่เห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เท่ากับยืนยันความต้องการของคสช.ในการเข้าไปแทรกแซงและควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ

ไม่เพียงสื่อเก่า หากกวาดรวมไปถึงสื่อใหม่ด้วย

สะท้อนว่าคสช.ไม่ได้คิดเพียง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ตามข้อเสนอของ กปปส.เท่านั้น หากยังคิดที่จะสืบทอดอำนาจไปอย่างยาวนาน

หากคิดสืบทอดอำนาจก็ต้องควบคุมสื่อให้อยู่ในกำมือ

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คิดเช่นนี้จึงมี ปว.17 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็คิดเช่นนี้จึงมี ปว.42 หลังรัฐประหาร

แล้วอนาคตของ 2 จอมพลนี้เป็นอย่างไร

ความพยายามในเรื่องร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ คือความพยายามที่จะเอา “อะนาล็อก” มาควบคุม “ดิจิตอล”

ดำเนินไปในลักษณะย้อนยุค สะท้อนความต้องการที่จะอาศัยอำนาจ “เผด็จการ” อันสุดแสนจะล้าหลังมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเทศ

เป็นไปตามหลักการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน