วิเคราะห์การเมือง

เบื้องหน้าสถานการณ์ในแบบ “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” เบื้องหน้าสถานการณ์ในแบบ “อโลฮา ฮาวาย” บรรดานักการเมืองทั้งหลายจะมองดูด้วยความเข้าใจ

บางคนอาจบังเกิดความสะสาในอารมณ์

เพราะสิ่งที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ประสบ ล้วนเป็นสิ่งที่ “นักการเมือง” น้อยใหญ่ล้วนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แห่งพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไม่ว่าจะเป็น นายสามารถ แก้วมีชัย ไม่ว่าจะเป็น นายอุดมเดช รัตนเสถียร แห่งพรรคเพื่อไทย

ทุกคนจึงสรุปได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติ

แต่กล่าวสำหรับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อาจเป็นเรื่องแปลก และกล่าวสำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจเป็นเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะ 2 ท่านนี้มิได้ถือว่าตนเองเป็น “นักการเมือง”

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้เป็นนักการเมืองหรือ ถามว่า พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนักการเมืองหรือ

อาจไม่ใช่

เพราะนับแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นไป พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ก็กลายเป็น “อดีต” ปลัดกระทรวงกลาโหม

แต่ถามว่า พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา มีตำแหน่งในทางการเมืองหรือไม่

พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ย่อมรู้ดีว่าท่านยังเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเป็น 1 ภายในแม่น้ำ 5 สายของ “คสช.” ตำแหน่งทางการเมืองซึ่ง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ได้มาก็เช่นเดียวกับตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มา

เพียงแต่เป็นการเมืองแบบ “รัฐประหาร” มิได้เป็นการเมืองแบบ “เลือกตั้ง”

ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้ง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อาจไม่ยอมเรียกตนเองว่าเป็น “นักการเมือง” แต่สภาพที่ท่านทั้ง 2 ดำรงอยู่สัมพันธ์กับกระบวนการทางการเมืองแน่นอน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น “เกษียณ” มานานแล้ว

แต่สถานะนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา 1 คือ รองนายกรัฐมนตรี และ 1 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เป็นสถานะอย่างเดียวกันกับที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เคยเป็น

จะต่างก็เพียงแต่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในบรรยากาศที่ยากแก่การตรวจสอบ

กระนั้น นับวันมือแห่ง “การตรวจสอบ” ก็จะยื่นยาวไป “สัมผัส”

2 ปีภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สภาพของหลายคนจึงเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่มิติใหม่

จากมิติของ “ทหาร” ไปสู่มิติของ “การเมือง” และยิ่งเข้าใกล้การเมืองในแบบ “การเลือกตั้ง” มากเท่าใดบรรยากาศและสถานการณ์แห่งการตรวจสอบจะยิ่งเข้มข้น

แม้จะยังไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” โดยสมบูรณ์และอย่างแท้จริงก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน